[12 มิ.ย.2551] เพิ่งจะรู้ว่าสิงคโปร์… ตอน 2

Posted on Thursday 12 June 2008 at 20:11

ก่อนอื่น สืบเนื่องจากเรื่องเล่าในตอนที่แล้ว
ขอแถมภาพ “ประตูน้ำ” ของสิงคโปร์ ไว้สักหน่อยครับ

พอดีว่าได้นั่งรถผ่าน เลยเก็บภาพมาฝากกันชัดขึ้น

=======================================

เพิ่งรู้ว่า ส.ส.สิงคโปร์มีกิจกรรมประจำแบบนี้ด้วย…

ช่วงค่ำวันอังคารที่ 10 มิถุนายน 2551 ที่ประเทศสิงคโปร์
คณะผู้สื่อข่าวไทยที่เข้าร่วมโครงการ JEP ครั้งที่ 5
มีโอกาสเดินทางไปยังเขตเกลังเซราย (Geylang Serai)
เพื่อสังเกตการณ์กิจกรรมทางการเมืองที่สำคัญอันหนึ่ง
ซึ่งได้ช่วยสร้างรากฐานที่มั่นของพรรคกิจประชาชนมายาวนาน

กิจกรรมนี้เรียกว่า Meet-The-People Session ครับ
เป็นกิจกรรมที่เปิดให้ประชาชนที่มีปัญหาเรื่องใดก็ได้มาร้องทุกข์
แล้วเขาจะมีระบบติดตามอย่างเป็นขั้นเป็นตอนครับ

ผมเดาเอาเองว่า กิจกรรมนี้คงจะตั้งชื่อให้ล้อกับตัวย่อของ ส.ส.
ที่ย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า MP (Member of Parliament)
MP <–> Meet-The-People
อืม…คิดเล่น ๆ ถ้าเป็นของ “ส.ส.” ไทย…
กิจกรรมนี้อาจจะชื่อว่า “สนทนาประสา…”
…อืม…ประสาอะไรดีล่ะ มีคำไหนที่ขึ้นต้นด้วย ส.เสือ
แล้วแปลประมาณว่า “ประชาชน” รึเปล่า
ช่วยนึกหน่อยครับ

นี่ครับ บรรยากาศหน้าห้องซึ่งอยู่บริเวณชั้น 1 ของแฟลตแห่งหนึ่ง
มีผู้คนมารอต่อคิวเพื่อรับบัตรคิวและพบกับ MP หรือ ส.ส.ครับ

เมื่อได้รับบัตรคิวก็ออกไปนั่งรอเรียก
แต่ขั้นแรกยังพบ ส.ส.ไม่ได้ครับ
จะมีอาสาสมัคร (กลางวันประกอบอาชีพอื่น ๆ)
คอยนั่งรับฟังปัญหาในเบื้องต้น
เพื่อสรุปเป็นเรื่องราวที่ชัดเจนครบประเด็น
ก่อนส่งต่อให้ ส.ส.

เรื่องที่ประชาชนมาร้องทุกข์ จะถูกบันทึกลงคอมพิวเตอร์
และมีระบบการติดตามปัญหา จนกว่าจะได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงไป
แต่วันนี้ ระบบคอมพ์ล่มครับ ก็เลยต้องเขียนลงกระดาษกันไปก่อน

มาแล้วครับ ส.ส.ที่ทุกคนรอคอย ดร.ฟาติมา ลาทีฟ
ก่อนจะเริ่มงานแก้ปัญหา ก็ได้มาทักทายและตอบคำถาม
คณะผู้สื่อข่าวจากประเทศไทยก่อน
ทำให้เรารู้ว่า นอกจากเป็น ส.ส.แล้ว ยังทำงานเป็นเภสัชกร
และเพิ่งจะมาเป็น ส.ส.ได้แค่ 2 ปีเท่านั้น

ดร.ฟาติมา เล่าให้ฟังว่า ระบบการรับฟังปัญหาประชาชนนี้
มีการทำมานานมากแล้ว สำหรับตนดูแลรับผิดชอบเขตเดียว
แต่ชุมชนไม่ได้อยู่รวมกัน เลยต้องแบ่งออกเป็น 3 ที่ 3 เวลานัด
ครั้งหนึ่งจะมีประชาชนมาร้องทุกข์ประมาณ 35 คนต่อแห่ง
ปัญหามีสารพัด ตั้งแต่เรื่องที่อยู่อาศัย ปัญหาการเงิน การศึกษาบุตร ฯลฯ
ส.ส.ก็มีหน้าที่รับฟัง แนะนำ และช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ยอมรับว่าไม่ใช่ทุกปัญหาจะแก้ได้
ถ้าปัญหาไหนแก้ให้ตามที่ประชาชนต้องการไม่ได้
ก็จะแนะนำให้คิดถึงแง่ดี หรือโอกาสอีกด้านหนึ่งแทน

เมื่อถามถึงปัญหาที่อยู่อาศัยคืออะไร เป็นเรื่องคนไม่มีที่อยู่หรือไม่
ดร.ฟาติมา ตอบว่า ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการครอบครองที่อยู่ การซื้อขาย
กรรมสิทธิ์ การผ่อนชำระ ซึ่งปัญหาการไม่มีที่อยู่อาศัยนั้นเป็นไปได้ยากมาก
เพราะรัฐบาลจัดสรรที่อยู่ให้ในราคาถูกมากจริง ๆ (สำหรับคนรายได้น้อย)

เอาล่ะครับ ถึงเวลาสักที…

นี่เป็นภาพที่จะอธิบายเรื่องเขตที่ ส.ส.ดูแล ได้เข้าใจง่ายขึ้น

ทีมงานของ ส.ส.คนหนึ่งอธิบายเพิ่มเติมว่า
ถ้าคุณพบคนหนึ่งนอนริมถนน คุณสามารถโทรแจ้งตำรวจได้
จากนั้นภายในชั่วโมงเดียว เจ้าหน้าที่จะมาสอบถาม
หากพบว่าไม่มีที่อยู่จริง ๆ ก็จะส่งไปพักในที่อยู่ชั่วคราวก่อน
ไม่อนุญาตให้นอนอยู่ริมถนนเด็ดขาด
…แต่ส่วนใหญ่ปัญหานี้ พบว่าคนข้างถนน เป็นคนมีที่อยู่
แต่มีปัญหา เช่น ทะเลาะกับครอบครัว งอนแฟน เลยออกมาเศร้าโศก
ถ่ายมิวสิควีดิโอเพลงเศร้าอยู่ริมถนนนั่นเอง

จากการเฝ้ามองของผม ยอมรับว่าคนที่มามีปัญหาหลากหลายจริง ๆ
บางคนก็มาด้วยความคับข้องอัดอั้นตันใจยิ่ง
แต่ผมคิดว่า กิจกรรมนี้ เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความเครียดของคนได้
เพราะแค่มีคนมารับฟังปัญหาของเขา ก็สบายใจไปเปลาะหนึ่งแล้วล่ะ

และอย่างน้อย เขาก็มีระบบบังคับ ให้ ส.ส.ดูแลประชาชน
ไม่ว่าก่อนหรือหลังเลือกตั้ง และยังเป็นระบบที่จะติดตามจนกว่า
ปัญหาได้รับการแก้ไขด้วย

==========================================

เพิ่งรู้ครับว่ากฎเกี่ยวกับ ERP ของเขารุนแรง…

ERP ป้ายนี้เราเห็นอยู่ในถนนหลักในเขตธุรกิจของสิงคโปร์
ทราบกันดีว่าเป็นเขตที่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากรถที่ผ่านเข้าออก
โดยมีการกำหนดเวลาไว้สำหรับกลุ่มคนต่าง ๆ
คนที่ไม่จำเป็นต้องผ่าน แต่มาผ่านในเวลาที่ไม่ควรจะผ่าน
เช่น แม่บ้านจะขับรถมาแย่งใช้ถนนจากนักธุรกิจในช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเช้า
ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมครับ

การหักค่าธรรมเนียมก็ใช้เทคโนโลยีเดียวกับบัตร ทางด่วนของบ้านเรา
มีกล่องวางไว้หน้ารถ เจ้าแป้นสี่เหลี่ยมสีขาวบนเสาก็จะรับข้อมูลรหัสเรา
เพื่อไปจัดการหักเงินที่เติมเอาไว้ก่อนแล้วต่อไป
แต่ที่เพิ่งรู้จริง ๆ คือ หากใครเบี้ยวไม่จ่าย เพราะไม่เติมเงินเข้าไป ฯลฯ
ระบบจะถ่ายภาพรถไว้ แล้วตามไปปรับคุณถึงบ้าน 10 เท่า!!!

==========================================

เรื่องกฎหมายนี่ เพิ่งรู้เหมือนกันว่า
ความจริงแล้ว สิงคโปร์ไม่ได้ห้ามเคี้ยวหมากฝรั่งนะครับ
ตอนไม่รู้ ก็ต้องแอบพก แอบเคี้ยวกันลับ ๆ ล่อ
วันนี้ได้ทราบข้อเท็จจริงมาว่า

สิงคโปร์แค่ห้ามขาย และซื้อหมากฝรั่งครับ
แต่ถ้าใครมี ก็ควักมาเคี้ยวได้ตามสบาย
ดังนั้น…ใครไปยืนเคี้ยวหน้าป้อมตำรวจ แจ๊บ ๆๆๆๆ
หรือต่อให้เป่าลูกโป่งโชว์ก็ยังได้ (เอ่อ…อย่าลองคงจะดีกว่า)

หมากฝรั่งที่ซื้อขายได้ เป็นหมากฝรั่งสำหรับการเลิกบุหรี่เท่านั้นครับ

ที่แน่ ๆ มีบางคน อยากกินหมากฝรั่งมาก
จนต้องข้ามไปซื้อถึงฝั่งมาเลย์โน่นแน่ะ!!!

==========================================

มีภาพมาให้ทายเล่น ๆ ครับ
ตึกนี้คือตึกอะไรเอ่ย…

เดี๋ยวคราวหน้าผมจะมาเฉลย
พร้อมทั้งเล่าเรื่องสนุกของคนที่อยู่ที่ตึกแห่งนี้
หน้าตาแบบ 2 คนนี้ล่ะครับ

และใครอยากรู้เรื่องการบล็อกอินเทอร์เน็ตที่นี่
จะเล่าให้ฟังตอนหน้าครับ มีอะไรให้ “เพิ่งรู้” อีกเยอะ

==========================================

ทิ้งท้ายด้วยภาพฝนยามเช้า ของวันที่พุธที่ 11 มิถุนายน
ที่ประเทศไทยตกหนักไหมครับ หนาวมาถึงนี่แน่ะ..(วู้ววว)

เอามาให้ชมเป็นลำดับภาพ ตั้งแต่เมฆตั้งเค้า
ยอมรับว่า ตอนที่ฝนตกแรงสุด ๆ
มันตื่นเต้นยังไงบอกไม่ถูก

และ “…หลังฝน ยังมีฟ้า…เสมอ”

หมายเหตุ : ใครงงว่าผมไปสิงคโปร์ทำไม กรุณาอ่านหมายเหตุของตอนที่แล้วนะครับ

tracker

โรงแรมย่านนี้แพงมาก

Posted on Thursday 12 June 2008 at 10:33 by Anonymous
โรงแรมย่านนี้แพงมาก

ติดตามอ่านตอนต่อไป

Posted on Thursday 12 June 2008 at 11:13 by GR
อ่านไปอ่านมาตั้งแต่ตอนแรก เริ่มติดและคอยลุ้นว่าเมือไหร่จามาเล่าให้ฟัง (เพิ่งจะรู้ว่าสิงคโปร์ตอนที่ 3) (( ทำให้ติดแบบนี้ถือว่าเป็นยาเสพติดป่าวเนี่ย)) 55

Untitled Comment

Posted on Friday 13 June 2008 at 17:41 by tuktuk34@hotmail.com
เข้าใจขยักนะน้องโย แล้วจะรออ่านตอนต่อไป ถ้ามีโอกาสถามเขา อยากรู้ว่านโยบายการคุมสื่อในยุคเสรีแห่งข่าวสาร
อย่างนี้ ยังมีอยู่หรือเปล่า แล้วชาวบ้านเมืองลอดช่องเขารู้สึกยังไง

อืมม

Posted on Saturday 14 June 2008 at 14:04 by Anonymous
ไปสิงคโปร์หลายหน แต่น้องโยไปคราวนี้ทำให้รู้จักกับเกาะเล็กๆแห่งนี้ในอีกมุมที่ไม่เคยรู้จัก … ดีจ้าน้องโย
พี่อ้อ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.