ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2557 จนถึงไตรมาสแรกปี 2558 ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ในงานผู้สื่อข่าวไปกับการติดตามข่าวคดีลักทรัพย์เงินของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล.
นอกจากได้ผลิตสกู๊ปออกทางข่าวค่ำ ช่อง 9 MCOT HD หลายตอนต่อเนื่อง เกี่ยวกับความคืบหน้าในคดีอันซับซ้อนนี้แล้ว
ผมยังได้เขียนบทความกึ่งข่าว กึ่งรายงาน และกึ่งเรื่องสั้น ที่มีฐานมาจากข้อมูลจริง กึ่งข้อมูลข่าว กึ่งข้อมูลจากแหล่งข่าว กึ่งข้อมูลจากการสืบค้น และกึ่งจินตนาการ ภายใต้ชื่อสั้น ๆ ว่า “บันทึกลัก สจล.” ด้วยหวังว่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าใจความเป็นมาเป็นไป และติดตามข่าวที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนนี้ได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น
ผมเขียนบทความนั้นเผยแพร่ในเว็บไซต์ สำนักข่าวไทย อสมท TNAMCOT ในคอลัมน์ “ระหว่างบรรทัด” เป็นรายสัปดาห์ เขียนไปได้ 5 ตอน ก็ตัดสินใจหยุดเขียนต่อ และเก็บเนื้อหาออกจากเว็บไซต์
เนื่องจากมีข้อมูลใหม่ ๆ ซึ่งเกี่ยวกับเงื่อนเวลาที่อยู่ใน “จินตนาการ” นั้น ไม่ตรงกับเวลาที่เกิดขึ้นจริง ๆ อีกทั้งคดีเริ่มเข้าสู่การพิจารณาคดีในชั้นศาล สมควรที่สังคมควรจะได้รับทราบจดจำสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงที่สุด
ในโอกาสที่ศาลมีนบุรี ได้อ่านคำพิพากษาแบบข้ามวันข้ามคืน ตั้งแต่ 8 โมงเช้า วันคริสต์มาส 25 ธันวาคม 2561 จนถึงตี 1 วันพุธที่ 26 ธันวาคม 2561 เป็นที่เรียบร้อย ทำให้ผมย้อนกลับไปค้นดูข้อเขียนที่ได้เก็บไว้ และพบว่า ในบทแรก ๆ นั้น อาจพอจะมีรายละเอียดที่ช่วยให้เข้าใจข่าวนี้ได้มากขึ้น
ผมจึงขอนำ “บันทึกลัก สจล.” บางส่วนบางตอนมาลงไว้ให้อ่านเป็น “เครื่องมือทำความเข้าใจ” ก่อนที่ท่านจะเปิดใจรับกับข้อเท็จจริงที่บรรจุอยู่ในคำพิพากษาและข่าวสารครับ
{คำชี้แจง – บทความถัดจากนี้ เป็นสิ่งที่เขียนขึ้นจากข้อมูลราวต้นปี 2558 คำว่า “ปัจจุบัน” ในบทความนั้น ก็จะหมายถึงช่วงราวเดือนมีนาคม 2558 / บทความนี้จะแบ่งเป็นบท ๆ โดยจะมี FACT SHEET และ “ใครเป็นใคร” ให้ได้อ่าน ก่อนจะเข้าสู่บทที่ 1}
บันทึกลัก สจล. : Fact Sheet
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. หรือ KMITL
สถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ มีจุดเริ่มต้นจากการก่อตั้งศูนย์ฝึกโทรคมนาคมนนทบุรี เมื่อ พ.ศ. 2503 ก่อนจะปรับเป็นวิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี และเมื่อ พ.ศ. 2514 ได้รวมกับอีก 2 วิทยาลัย (วิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ และวิทยาลัยเทคนิคธนบุรี) จัดตั้งเป็นสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า (KMIT) ก่อนจะย้ายจากวิทยาเขตนนทบุรี มาอยู่ที่ลาดกระบัง เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาเขตเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก่อนจะจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยอิสระชื่อ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เมื่อ พ.ศ. 2528 ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล (ออกนอกระบบ) เมื่อ พ.ศ. 2551 มีอัตลักษณ์ว่า ซื่อสัตย์ ใฝ่รู้ สู้งาน
ชื่อ สจล. ประกอบด้วย พระนาม “พระจอมเกล้า” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และคำว่า “เจ้าคุณทหาร” เป็นอนุสรณ์แด่ท่านเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ตามความประสงค์ของท่านเลี่ยม พรตพิทยพยัต ทายาทที่แจ้งไว้ในการบริจาคที่ดิน 1,041 ไร่ให้เป็นที่ตั้งของสถาบัน
สจล.มีสภาสถาบันเป็นองค์คณะในการกำกับดูแลนโยบาย มีประธานสภาสถาบันคนปัจจุบันคือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2550 ถึงปัจจุบันเป็นสมัยที่สอง
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2557 ผู้บริหาร สจล.พบความผิดปกติทางการเงิน จนนำไปสู่การค้นพบว่าถูกกลุ่มบุคคลร่วมกันลักทรัพย์ของสถาบันฯ ไปอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2554-2557 รวมเป็นเงินเกือบ 1,600 ล้านบาท และได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 จนนำมาสู่การจับกุมผู้ต้องหากว่า 10 คน ทั้งบุคคลภายในสถาบันฯ บุคคลในธนาคาร และบุคคลภายนอก
เงินที่ถูกลักทรัพย์ไปนั้น มาจากเงินรายได้สะสม (เงินคงคลัง) ที่สถาบันฯ จัดสรรเงินจากงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับในแต่ละปีจำนวน 5% มาเก็บสะสมไว้เพื่อทำประโยชน์ในอนาคต ซึ่งเริ่มเก็บสะสมมาตั้งแต่ปี 2551 ที่สถาบันฯ ออกนอกระบบราชการ แปรสภาพเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับรัฐบาล จึงไม่ต้องส่งงบประมาณที่เหลือคืนกระทรวงการคลัง
ใครเป็นใคร ?
กลุ่ม สจล.
ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ [อายุ 57 ปี] รักษาการแทน อธิการบดี [รับหน้าที่ 28 พฤศจิกายน 2556 ถึงปัจจุบัน]
ศิษย์เก่าเกียรติยศ รุ่นที่ 15 เกิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2500 สำเร็จการศึกษาสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สจล.ทั้งระดับปริญญาตรี-โท-เอก ก้าวมาเป็นรองอธิการบดีในสมัย ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา เป็นอธิการบดี ก่อนที่จะได้รับมอบหมายให้รักษาการแทนอธิการบดีในเวลาต่อมา ศ.ดร.โมไนย ถือเป็น ศ.ดร.ด้านวิศวกรรมศาสตร์หนึ่งในไม่กี่คนของประเทศไทย เคยได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขาวิศวกรรมศาสตร์ และอุตสาหกรรมวิจัย มีความเชี่ยวชาญพิเศษเรื่องสายอากาศ เป็นผู้แต่งตำราเรื่องเสาอากาศหลายเล่ม
จากเหตุการณ์ลักทรัพย์ สจล.ที่เกิดขึ้นบางส่วนในสมัยที่ ศ.ดร.โมไนย รักษาการ ทำให้ ศ.ดร.โมไนย ประกาศไม่ลงสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีที่มีขึ้นในช่วงเดียวกับที่เกิดคดีความนี้พอดี เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบ
รศ.ดร.จำรูญ เล้าสินวัฒนา รักษาการแทน รองอธิการบดี
อาจารย์สาขาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. ได้รับปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาพืชไร่-นา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาเอก Doctor of Agiculture (Plant Protection) จาก Tokyo University of Agriculture and Technology ประเทศญี่ปุ่น และ Post Doctoral สาขา Weed Science (Allelopathy) จาก Utsunomiya University ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน การจัดการวัชพืช และ อัลลีโลพาธี (Allelopathy – ปรากฏการณ์ที่พืชชนิดหนึ่งปล่อยสารพิษออกไปทำอันตรายกับพืชข้างเคียง)
ในเหตุการณ์ลักทรัพย์ สจล. รศ.ดร.จำรูญ ในฐานะรักษาการรองอธิการบดีดูแลส่วนนิติการ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะทำงานตรวจสอบบัญชีเงินฝากของสถาบันฯ เป็นบุคคลหลักในการประสานงานกับตำรวจและธนาคารเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการดำเนินคดี รวมทั้งเป็นผู้รับเอกสารหลักฐานธุรกรรมต่าง ๆ จากธนาคารไทยพาณิชย์ด้วยตนเอง
ผศ.เผ่าภัค ศิริสุข รักษาการแทนรองอธิการบดี
ศิษย์เก่า สจล. สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ด้านโทรคมนาคม เกียรตินิยม เมื่อ พ.ศ. 2535 ก่อนจะบินไปเรียนต่อจนถึงปริญญาเอกที่ Imperial College of Science Technology and Medicine กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ หนึ่งในกูรูด้านเทคโนโลยีโลจิสติกส์ โทรคมนาคม และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ระดับประเทศ รวมทั้งเคยเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยดาวเทียมไทพัฒ ของพระจอมเกล้าพระนครเหนือด้วย
ผศ.เผ่าภัค เคยเป็นผู้ช่วยอธิการบดีในสมัย ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา ต่อมาได้รับเชิญมานั่งรักษาการแทนรองอธิการบดี ในสมัยของ ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดี ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 โดยรับผิดชอบดูแลส่วนการคลัง ซึ่งเป็นเหตุให้อีก 1 ปีถัดมา ผศ.เผ่าภัค ตกอยู่ในฐานะหนึ่งใน ผู้ต้องสงสัย กับขบวนการลักทรัพย์ แม้ว่าจะเป็นผู้พบพิรุธนี้เป็นคนแรกก็ตาม
ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา [อายุ 61 ปี] อดีตอธิการบดี [20 กรกฎาคม 2555-27 พฤศจิกายน 2556]
ศิษย์เก่าเกียรติยศ รุ่น 12 เกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2497 สำเร็จการศึกษาสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร ระดับปริญญาตรีเมื่อ พ.ศ. 2521 และปริญญาโทเมื่อ พ.ศ. 2524 ก่อนจะไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกสาขาสื่อสารดาวเทียมที่ มหาวิทยาลัยโตไก ประเทศญี่ปุ่น และกลับมาเป็นอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมชั้นแนวหน้าอีกคนหนึ่ง
ศ.ดร.ถวิล เคยเป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. 2 สมัยรวม 8 ปี และยังเคยเป็นรักษาการอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันอยู่ 1 ปีกว่า ลงสมัครชิงตำแหน่งอธิการบดี สจล.มาถึง 3 ครั้ง กว่าจะได้เป็นอธิการบดี เมื่อ 20 กรกฎาคม 2555 ต่อจาก รศ.กิตติ ตีรเศรษฐ แต่นั่งอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดได้เพียงปีเศษ ก็ถูกต่อต้านจากข้อครหาแก้ผลการเรียนให้ลูกตนเอง และการเปิดหลักสูตรปริญญาเอกให้นักการเมือง ซึ่งนำมาสู่การมีมติถอดถอนพ้นจากตำแหน่งโดยสภาสถาบัน เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2556
ในเหตุการณ์คดีลักทรัพย์ สจล.พบว่ามีธุรกรรมที่ผิดปกติเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงที่ ศ.ดร.ถวิล ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ซึ่ง ศ.ดร.ถวิล ได้นำเอกสารหลักฐานเข้าชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายครั้ง และยืนยันว่าไม่มีส่วนรู้เห็น
ผศ.ดร.สรรพสิทธิ์ ลิ่มนรรัตน์ [อายุ 51 ปี] อดีตผู้ช่วยอธิการบดี
ศิษย์เก่า สจล. เกิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2507 สำเร็จปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ก่อนจะไปเรียนต่อที่ประเทศออสเตรเลีย จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ ที่ University of New South Wales แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ที่สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ เป็นนักกิจกรรม เป็นที่รักของนักศึกษา ปัจจุบันยังคงทำหน้าที่สอนนักศึกษาอยู่
แม้ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินอย่างโดดเด่น แต่ ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา ก็ไว้วางใจและชักชวนให้มาเป็นผู้ช่วยอธิการบดี ดูแลส่วนการคลัง เข้ารับตำแหน่งราวเดือนสิงหาคม 2555 และพ้นตำแหน่งไปพร้อมกัน เป็นหนึ่งในสองผู้บริหารที่มีอำนาจลงนามในธุรกรรมเบิกถอนต่าง ๆ ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง ซึ่งเจ้าตัวปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการโกง สจล.
รศ.ดร.กิตติ ตีรเศรษฐ [อายุ 64 ปี] อดีตอธิการบดี [13 กรกฎาคม 2548 – 12 กรกฎาคม 2555]
ศิษย์เก่าเกียรติยศ รุ่นที่ 8 เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2494 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมไฟฟ้า ก่อนจะไปเรียนต่อที่ Tokai University ประเทศญี่ปุ่น จนสำเร็จปริญญาเอก มีความเชี่ยวชาญวิศวกรรมด้านการวัดคุม
รศ.ดร.กิตติ เป็นระดับผู้บริหาร สจล.มาตั้งแต่ปี 2541 ในตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายบริหารงาน นาน 7 ปี ก่อนที่จะได้ขึ้นเป็นอธิการบดีอีก 2 สมัย ซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การออกนอกระบบหรือการเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับรัฐ ที่ต้องมีการวางกรอบแนวทางระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ รวมทั้งร่วมวางระเบียบทางการเงินให้มีการหัก 5% จากงบประมาณเข้าเป็นเงินรายได้สะสมของสถาบัน เพื่อเก็บไว้ใช้ในอนาคต จนทำให้เงินคงคลังส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดทุกปีต่อเนื่อง
ในเหตุการณ์ลักทรัพย์ สจล. ตามหลักฐานธุรกรรม กลุ่มคนร้ายเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนกันยายน 2554 เกือบจะปลายสมัยการดำรงตำแหน่งอธิการบดีซึ่ง รศ.ดร.กิตติ ยืนยันว่าในระหว่างเป็นผู้บริหาร ดูแลการเงินการคลังด้วยตนเอง มีการวางระเบียบที่เข้มงวด และเรียกสุ่มตรวจดูสมุดบัญชีอยู่เสมอ ไม่พบความผิดปกติ และไม่เคยพบว่ามีสมุดบัญชีที่มีการปลอมแปลงด้วยการใช้พิมพ์ดีดพิมพ์รายการธุรกรรมแต่อย่างใด
ผศ.ดร.สมศักดิ์ คูหาสวรรค์เวช อดีตผู้ช่วยอธิการบดี
อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์การเกษตร ประจำภาควิชาเทคนิคเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร จบการศึกษาปริญญาตรี เทคโนโลยีทางการศึกษา จากมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ บางเขน ต่อปริญญาโท เทคโนโลยีเทคนิคศึกษา ที่ สจล. ก่อนจะกลับไปสำเร็จปริญญาเอก เทคโนโลยีการศึกษา จาก มศว
ผศ.ดร.สมศักดิ์ เป็นผู้ช่วยอธิการบดีผู้มีอำนาจลงนามธุรกรรมในสมัยที่ รศ.ดร.กิตติ เป็นอธิการบดี ซึ่งทั้งคู่ได้เข้าให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558
ผศ.ศรุต ราชบุรี
จากนักศึกษารั้วธรรมศาสตร์ สู่การเป็นอาจารย์ประจำกลุ่มวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สจล.ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า มีเงินจาก สจล. 5.5 ล้านบาทโอนเข้ามาในบัญชี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 โดย ผศ.ศรุต ชี้แจงว่าเป็นเงินที่ได้คืนมาจากการลงทุนในกองทุนรวมของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งนายทรงกลด ศรีประสงค์ มาชักชวนให้ไปลงทุนตั้งแต่ปี 2552-2554 กระทั่งได้รับแจ้งให้ไปพบตำรวจ จึงเพิ่งทราบว่าเป็นเงินของ สจล. ยืนยันว่าไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
น.ส.วรวรรณ สุวรรณกูฏ ผู้อำนวยการส่วนนิติการ
บุคลากร สจล.อีกคนหนึ่งที่รับหน้าที่หนักในการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสถาบันฯ และปรากฏอยู่ในภาพข่าวว่าเป็นผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
น.ส.ลำดวน ทินราช รักษาการผู้อำนวยการส่วนการคลัง
ได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการ ภายหลัง น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีร่วมกันลักทรัพย์ สจล. โดย น.ส.ลำดวน เป็นอีกคนหนึ่งที่มักเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับคดี
*ผู้ต้องหา* น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ [อายุ 56 ปี] อดีตผู้อำนวยการส่วนการคลัง
นักวิชาการเงินและบัญชีที่ทำงานอยู่ที่ สจล.มายาวนานกว่า 30 ปี จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้อำนวยการส่วนการคลังมาหลายปี เป็นผู้ใหญ่ใจดีของเพื่อนร่วมงาน แต่ในระยะหลังตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา น.ส.อำพร หรือ พี่ปุ๊ก ซึ่งมีรูปร่างอ้วนก็มีอาการเจ็บป่วยจากหลายโรค และเข้าโรงพยาบาลอยู่บ่อย ๆ แทบทุกเดือน
น.ส.อำพร ตกเป็นผู้ต้องหา 1 ใน 2 คนแรกของคดีร่วมกันลักทรัพย์ สจล. โดยมีข้อกล่าวหาร่วมมือกับนายทรงกลด ศรีประสงค์ พนักงานธนาคารที่มีความสนิทสนมกัน ก่อเหตุในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวขณะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ก่อนจะนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำมีนบุรี โดยขอให้การในชั้นศาล
นายสิทธิชัย ศรีวโรทัย [อายุ 58 ปี] พนักงานบริการเดินเอกสาร
พนักงานเดินเอกสาร สจล. ที่เคยทำหน้าที่เดินเอกสารให้ส่วนการคลัง เคยติดต่อกับธนาคารบ่อยครั้ง ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเคยได้รับการติดต่อจากนายทรงกลด ศรีประสงค์ ที่สนิทสนมกันมานาน ว่าจ้างให้ช่วยเปิดบัญชีเพื่อรับเงิน 20 ล้านบาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ก่อนจะให้ซื้อแคชเชียร์เช็คและมอบสมุดบัญชีให้ไป
*ผู้ต้องหา* นายทรงกลด ศรีประสงค์ [อายุ 40 ปี] อดีตพนักงานธนาคาร
“อ้น” เป็นพนักงานธนาคารไทยพาณิชย์สาขาเทคโนโลยีฯ เจ้าคุณทหาร ซึ่งตั้งอยู่ภายใน สจล.มานานจนได้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ จากนั้นได้ย้ายไปเป็นผู้จัดการที่สาขาบิ๊กซีสุวินทวงศ์ ก่อนจะถูกเชิญให้ลาออกเมื่อเดือนกันยายน 2556 ต่อจากนั้น “อ้น” ได้ย้ายไปสมัครงานเป็นผู้จัดการที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาบิ๊กซี ศรีนครินทร์ ก่อนที่จะมาเกิดเรื่อง และตกเป็น 1 ใน 2 ผู้ต้องหาคนแรก รวมกับ น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการส่วนการคลัง สจล.ในคดีร่วมกันลักทรัพย์ สจล.
เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม “อ้น” ได้แถวอ่อนนุชก่อนจะฝากขัง ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2557 โดยยังให้ข้อมูลแต่เพียงว่า ดำเนินการถูกต้องตามความประสงค์ของ น.ส.อำพร
*ผู้ต้องหา* นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด [อายุ 32 ปี] (ยังหลบหนี)
“เป้” หนุ่มพิจิตรที่มีความถนัดเชี่ยวชาญทางบัญชี วางตัวเป็นนักธุรกิจ ใช้ชีวิตหรูหรา และจัดตั้งบริษัทหลายแห่งในระหว่างปี 2555-2557 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่พบร่องรอยเส้นทางเงินของ สจล.ที่ถูกโอนอย่างทุจริตไปเข้าบัญชีของนายกิตติศักดิ์และกลุ่มเพื่อนสนิท ก่อนจะถูกส่งต่อไปยังบุคคลต่าง ๆ จำนวนมาก รวมทั้งแปรเป็นทรัพย์สิน
นายกิตติศักดิ์ เป็น ผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีลักทรัพย์ สจล.เชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้วางแผนการโยกย้ายเงินที่ซับซ้อน ขณะนี้ยังคงหลบหนีการจับกุมอยู่ในต่างประเทศ ตำรวจอยู่ระหว่างประสานขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน
กลุ่มเพื่อน-ญาติของนายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ที่ตกเป็นผู้ต้องหาแล้ว (เรียงลำดับตามการปรากฏตัว)
*ผู้ต้องหา* นายพูนศักดิ์ บุญสวัสดิ์ [อายุ 26 ปี] เพื่อนสนิทของนายกิตติศักดิ์
หนุ่มปริญญาโทที่ปรากฏชื่อเป็นผู้รับเงิน 80 ล้านบาทจากธุรกรรมครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2557 เข้าให้การกับตำรวจว่าไม่รู้เรื่อง ถูกนายกิตติศักดิ์วานให้เปิดบัญชีเพราะอยู่ใกล้ธนาคาร
*ผู้ต้องหา* นายจริวัฒน์ สหพรอุดมการ [อายุ 31 ปี] เพื่อนของนายกิตติศักดิ์
*ผู้ต้องหา* นางสมบัติ โสประดิษฐ์ [อายุ 44 ปี] มารดาของ น.ส.จันทร์จิรา
*ผู้ต้องหา* น.ส.จันทร์จิรา โสประดิษฐ์ [อายุ 27 ปี] เพื่อนสนิทของนายกิตติศักดิ์
สองแม่ลูก โดย น.ส.จันทร์จิรา เป็นเพื่อนสมัยเรียนปริญญาตรีที่ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ของนายกิตติศักดิ์ อ้างว่าเงินที่เข้าบัญชีมาจากการเปิดโต๊ะรับแทงพนันฟุตบอลออนไลน์
*ผู้ต้องหา* นายภาดา บัวขาว [อายุ 28 ปี] เพื่อนสนิทของนายกิตติศักดิ์
บอกว่าตนเองสนิทสนมกับนายกิตติศักดิ์มากกว่าคำว่าเพื่อน เป็นบุคคลสุดท้ายที่ได้ติดต่อกับนายกิตติศักดิ์ โดยร่วมเดินทางไปที่ฮ่องกงด้วยในช่วงที่มีข่าวออกมา แต่กลับมาก่อนเพื่อช่วยขายทรัพย์สินให้นายกิตติศักดิ์ และยังได้โทรคุยว่านายกิตติศักดิ์จะกลับมาไทยในวันที่ 12 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา “โอ๊ต ภาดา” เป็นเน็ตไอดอลที่มีพฤติกรรมฟุ้งเฟ้อหรูหราจากเงินของนายกิตติศักดิ์ และยืนยันว่าไม่รู้มาก่อนว่าเป็นเงิน สจล.
*ผู้ต้องหา* นางระดม มัทธุจัด [อายุ 54 ปี] มารดาของนายกิตติศักดิ์
*ผู้ต้องหา* นายธวัชชัย ยิ้มเจริญ (ยังหลบหนี)
*ผู้ต้องหา* นายสมพงษ์ สหพรอุดมการ [อายุ 57 ปี] (ยังหลบหนี) บิดาของ นายจริวัฒน์
กลุ่มอื่น ๆ
นายคงฤทธิ์ สิงห์นุโคตร [อายุ 49 ปี]
“จุง โคชิกะ” หรือ “เจ๊จุง” ต้นตำรับตัวละครในภาพยนตร์ “สตรีเหล็ก” อดีตผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 3 เอ็ม ที่อนุมัติเบิกถอนเงินของ สจล. 300 ล้านบาทจากบัญชีเงินฝาก แล้วจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็ค 14 ใบเข้าบัญชีกลุ่มผู้ต้องหา ก่อนที่จะลาออกจากธนาคารไป นายคงฤทธิ์ พบตำรวจเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ยืนยันว่าไม่มีส่วนรู้เห็น และไม่สนิทสนมกับนายทรงกลด
นายปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ ดารานักแสดง
“บอย ปกรณ์” จ่าย 13.5 ล้านบาท ซื้อรถยนต์หรูต่อจากนายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ผ่านการติดต่อกับนายภาดา บัวขาว โดยยืนยันไม่รู้ว่ารถมีที่มาจากเงิน สจล. ต่อมา ปปง.มีมติยึดอายัดรถยนต์คันดังกล่าวไว้
สาวิกา ไชยเดช ดารานักแสดง
“พิงกี้” เป็นหนึ่งในผู้มีชื่อร่วมก่อตั้งบริษัทกับนายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด และผู้กำกับอีกคนหนึ่ง โดยยืนยันกับตำรวจว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับพฤติกรรมของนายกิตติศักดิ์
บันทึกลัก สจล. ตอนที่ 1 : “เรียบร้อยแล้ว”
ค้นความจริง คลี่อุบาย เกิดอะไรขึ้นที่ สจล.
[ ข้อเขียนต่อไปนี้ แต่งขึ้นโดยมีเค้าโครงหลักจากเรื่องจริง ตามเอกสาร หลักฐาน และคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ ถ้อยคำบางส่วนถูกสร้างขึ้นเพื่ออรรถรสทางวรรณกรรม ]
“คุณทำอย่างนี้ได้ยังไง!”
“ทางสถาบันเขาต้องการแบบนี้ครับ ผมก็จำเป็นต้องอนุมัติไปก่อน”
“ถ้างั้น คุณทรงกลด คุณไปกับผม เอาเช็คใบนี้ไปตามลายเซ็นมาให้ครบ คุณขึ้นไป ผมจะรออยู่ข้างล่าง”
ณ ชั้น 3 อาคารสำนักงานอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล.
3 ธันวาคม 2557 เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปีที่หลายคนกำลังมองหาความสุขช่วงปีใหม่ เช้านี้ก็เหมือนวันทำงานทั่วไป ไม่มีใครคาดคิดว่า นี่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตไปอย่างถาวร
“อาจารย์เผ่า” หรือ “อาจารย์โจ้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เผ่าภัค ศิริสุข ก็เป็นอีกคนที่เดินทางมาทำงานที่ สจล.ตามปกติ วันนี้มีภารกิจค่อนข้างมาก ช่วงเช้าต้องเข้าสำนักงานเซ็นเอกสาร ช่วงบ่ายต้องไปบรรยายที่ไบเทค บางนา
อ.เผ่าภัค เป็น ศิษย์เก่า สจล. สำเร็จการศึกษาด้านโทรคมนาคม เกียรตินิยม เมื่อปี 2535 ก่อนจะบินไปเรียนต่อถึงปริญญาเอกที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ หนึ่งในกูรูด้านโลจิสติกส์และโทรคมนาคมระดับประเทศ
ไม่เพียงผลงานด้านวิชาการ แต่งานบริหารก็เติบโตด้วย จากที่เคยเป็นผู้ช่วยอธิการบดี ก็เลยได้รับเชิญจาก ศาสตราจารย์ ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดี ให้มานั่งรักษาการแทนรองอธิการบดี ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 หลังเกิดสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะวิกฤตถึงขีดสุดในประวัติศาสตร์กว่า 50 ปีของ สจล.
อธิการบดีถูกถอดถอน! ด้วยข้อครหาที่มีการแก้ผลการเรียนให้ลูกชายของตนเอง และการเปิดหลักสูตรปริญญาเอกเอื้อนักการเมือง ทำให้ ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา ศิษย์เก่าลูกหม้อ สจล.ที่พยายามลงชิงตำแหน่งอธิการบดีมาถึง 3 ครั้ง นั่งอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดได้แค่ปีเศษ ต้องพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ไปเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2556
ศ.ดร.โมไนย ที่เป็นรองอธิการบดีอยู่แล้ว จึงต้องขยับขึ้นมารักษาการแทนอธิการบดีไปพลางระหว่างรอการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ แต่เรื่องก็ยืดเยื้อเพราะต้องรอให้ความเป็นธรรมกับ ศ.ดร.ถวิล ที่ไปยื่นฟ้องศาลปกครอง และยังมีสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงภาวะที่ไม่มีรัฐบาล
ห้องทำงานรองอธิการบดี สจล.ที่รับผิดชอบดูแลส่วนการคลัง อยู่ชั้น 3 ติดกับห้องของผู้อำนวยการส่วนการคลัง ที่จะเรียกได้ว่าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรง
งานด้านการเงินการคลังเป็นงานเฉพาะทาง ตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนการคลัง จึงไม่เคยเปลี่ยนมาหลายปีแล้ว นับตั้งแต่คนก่อนเกษียณอายุราชการไป “พี่ปุ๊ก” น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ นักวิชาการเงินและบัญชี สาวโสดร่างใหญ่ที่ทำงานอยู่ สจล.มากว่า 30 ปี จึงได้รับไม้ต่อให้มาดูแลเงินงบประมาณแผ่นดินปีละพันกว่าล้าน
แม้พี่ปุ๊กจะเป็นคนเงียบ ๆ แต่ก็ทำงานร่วมกับทีมกว่า 30 คนได้ไม่มีปัญหา และยังมีอัธยาศัยไมตรีดีกับบุคคลที่ติดต่อประสานงานด้วยเป็นประจำ
หนึ่งในบุคคลนั้นมีชื่อว่า “อ้น” นายทรงกลด ศรีประสงค์ นายแบงก์อนาคตไกล ผู้ได้ชื่อว่าขยันทำงานแบบพนักงานดีเด่น ไม่สาย ไม่ลา ไม่ขาด ทำงานถวายชีวิตให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเทคโนโลยีฯ เจ้าคุณทหาร ธนาคารแห่งแรกที่ตั้งอยู่ใน สจล.ยาวนานที่สุดกว่า 20 ปี โดยเริ่มตั้งแต่เป็นสาขาย่อย ก่อนจะขยับขยายเป็นสาขาหลัก สจล.ให้เช่าพื้นที่ตั้งสำนักงานอยู่อีกฟากถนน เยื้อง ๆ กับตึกที่ อำพร นั่งทำงานอยู่นี่เอง
อ้น ชายหนุ่มที่ออกอาการอ่อนหวาน เริ่มเป็นพนักงานธนาคารนั่งเคาน์เตอร์ธรรมดา ๆ คอยให้บริการลูกค้าที่ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ทำงานใน สจล.
“เวลาเข้าไป เขาจะคอยเปิดประตูให้ ดูแลเป็นอย่างดี ในระดับดีมากเลยล่ะ เชื่อว่า คน สจล.ครึ่งหนึ่งต้องรู้จัก” ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา กล่าวถึงอ้น เช่นเดียวกับบุคลากร สจล.อีกหลายคน ก็จะเห็นอ้นในทำนองนี้
นั่นคือภาพในความทรงจำ เพราะพักหลังคนไม่เห็นอ้นที่ไทยพาณิชย์ สาขา สจล.มาสักระยะหนึ่งแล้ว มีข่าวว่าได้ไปเป็นผู้จัดการที่ไทยพาณิชย์อีกสาขาไม่ไกลเท่าใดนัก
เช้านี้ พี่ปุ๊ก-อำพร พา อ้น-ทรงกลด มาแนะนำให้ อ.เผ่า ได้รู้จัก
“ท่านรองคะ นี่คุณทรงกลด มาจากไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ จะเอาของขวัญมาช่วยจับฉลากในงานปีใหม่ของสถาบัน” อำพรเกริ่นนำ โดยโยงไปถึงบัญชาของ อ.เผ่า ที่เคยขอให้เธอไปคุยกับบรรดาธนาคารทั้ง 4 แห่ง ที่มีสาขาอยู่ภายในบริเวณ สจล. ขอสปอนเซอร์ของขวัญน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ มาร่วมในงานปีใหม่ตามกำลังศรัทธา
อ.เผ่า รับทราบ เห็นรอยยิ้มและมิตรไมตรีที่ทรงกลดมอบให้ราวกับคนรู้จักกันมานาน ก่อนที่จะเดินผ่านไปที่ห้องของตัวเอง รีบเซ็นงานในแฟ้มกองโตให้จบในช่วงเช้า
“เอ่อ ท่านรองครับ มีเอกสารฉบับหนึ่งที่ยังไม่เรียบร้อย จะรบกวนท่านรองช่วยเซ็นให้หน่อยครับ” ทรงกลด ปรากฏกายพร้อมรอยยิ้มและเอกสาร ทำให้ อ.เผ่า ผงะไปเหมือนกันว่าเป็นใครมาจากไหน เดินเข้ามาได้ยังไง
เอกสารนั้นคือ แคชเชียร์เช็ค ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 สั่งจ่ายยอดเงิน 50 ล้านบาท เพื่อเข้าบัญชีชื่อ “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง”
ดูเหมือนจะเรียบร้อย ถ้าพลิกไปไม่เจอการลงสลักหลังให้เงินเข้าบัญชีของบุคคลชื่อ นายพูนศักดิ์ บุญสวัสดิ์
จุดระเบิดความคิดมากมายในสมองของ อ.เผ่า แต่อย่างน้อยสรุปได้ก่อนเลยว่า “เรื่องนี้ไม่ปกติ”
ในวงราชการหรือหน่วยงานเอกชน คนปกติทั่วไปก็คงไม่มีใครกล้าเซ็นเช็คแบบนี้ หน้าเช็คเป็นชื่อสถาบัน หลังเช็คเป็นชื่อบุคคล โอนเงินสดของหน่วยงานให้ใครก็ไม่รู้ แค่เซ็น ขาสองข้างก็เข้าคุกไปแล้ว
แต่ครั้นจะหุนหันโวยวาย ยึดเช็คย้อนหลังฉบับนั้นไว้กับตัว ก็ประเมินแล้วว่าอาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร อยู่ในดงลูกระเบิดหรือเปล่า ทรงกลดพกอาวุธ พกปืนเข้ามาหรือเปล่า ถึงต้องรีบร้อนลัดขั้นตอน เอาเช็คมาให้เซ็นกับมือแบบนี้ ถ้ายึดไว้เกิดทรงกลดชักปืนมายิงจะทำยังไง และอีกมากมายหลายประเด็นที่ผุดขึ้นมา
“แบบนี้ผมเซ็นไม่ได้ครับ ผมไม่เซ็นครับ” อ.เผ่า ตอบแบบนิ่มนวล พร้อมสังเกตท่าทีทรงกลดที่ดูจะกดเก็บความผิดหวังเดินออกจากห้องทำงานไป
แม้จะพ้นตัว แต่ยังไม่พ้นสมอง อ.เผ่าภัค ในเก้าอี้รองอธิการบดี ยังกังวลและหาคำตอบไม่ได้ว่าเช็คนั้นมันคืออะไร มาจากไหน
ตัวเลข 50 ล้าน… อาจจะเคยมีคุ้น ๆ บ้างว่า อำพร มานำเสนอขออนุมัติให้ถอนเงินจากบัญชีธนาคาร 2 แห่ง 50 กับ 30 ล้าน รวม 80 ล้านบาท ไปฝากประจำเข้าอีกธนาคารหนึ่งเพื่อเอาดอกเบี้ย
การถอนเงินฝากนิ่ง ๆ ไปฝากประจำระยะสั้นเพื่อเอาดอกเบี้ยจากธนาคาร เป็นมาตรการหนึ่งที่ สจล.ทำมาหลายปีแล้ว ระหว่างที่รอให้มีการจัดจ้างนักลงทุนมืออาชีพเข้ามาบริหารงาน ดีกว่าปล่อยให้เงินอยู่เฉย ๆ ก็โยกย้ายไปทำประโยชน์ให้งอกเงยขึ้น
ยิ่งหลังจากออกนอกระบบราชการในปี 2551 ถ้า สจล.มีเงินเหลือไม่ต้องส่งคืนคลังแล้ว แต่ละคณะสาขาก็จะเก็บออมเอาไว้ในนาม “เงินรายได้สะสม (เงินคงคลัง)” รวมทั้งแต่ละปียังมีการหัก 5% ของเงินงบประมาณที่ได้รับ เข้ากองทุนเงินเก็บที่ว่านี้ เผื่อไว้สำหรับลงทุนโครงการใหญ่ ๆ ในอนาคต สามารถทำได้สะดวกคล่องตัวขึ้น จนตัวเลขเงินเก็บพอกพูนเป็นกว่า 2,000 ล้านบาท
ระเบียบของ สจล.ยังกำหนดนโยบายการใช้เงินเก็บสะสมก้อนนี้อย่างรัดกุม คณะสาขามีสิทธิ์ใช้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของส่วนที่ตัวเองเก็บหอมรอมริบไว้ และถ้าเอาไปใช้แล้ว จะต้องเอามาคืนให้ครบด้วย แต่สามารถผ่อนชำระระยะยาวได้
ใกล้เที่ยง หลังเซ็นเอกสารในแฟ้มกองโตแบบที่เขาเรียกว่า “ก้มหน้าก้มตารับใช้แฟ้ม” จนเสร็จเรียบร้อย ได้เวลาที่ อ.เผ่า จะต้องออกไปรับหน้าที่วิทยากรบรรยายให้ความรู้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ศูนย์การประขุมและนิทรรศการ ไบเทค บางนา เขาสะพายกระเป๋าโน้ตบุ๊ก เปิดประตูห้องออกมา ยังเห็นทรงกลดยืนอยู่
“ตกลงผมไม่ต้องเซ็นแล้วใช่ไหม” อ.เผ่า ถามหยั่งเชิงไปอย่างนั้น เพราะตั้งใจไว้แล้วว่า ถึงจะบอกว่าต้องเซ็น ก็จะไม่เซ็นให้อยู่ดี
แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาจากทรงกลด ทำให้ตะกอนความคิดขุ่นคลั่กขึ้นมาอีก
“เรียบร้อยแล้วครับท่านรอง” ตามด้วยรอยยิ้มแปลก ๆ ของทรงกลด คือภาพสุดท้ายที่ยังติดตาไปตลอดการเดินทาง
“ท่านครับ ผมว่ามันไม่ปกติ” อ.เผ่า โทรศัพท์เล่าเรื่องทั้งหมดแก่ ศ.ดร.โมไนย รักษาการแทนอธิการบดี
บ่ายวันนั้นผู้บริหาร สจล.สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงหาที่มาที่ไปของแคชเชียร์เช็คโดยเร่งด่วน ตามมาด้วยการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบบัญชีเงินฝากของสถาบันทั้งกระบิ จนทำให้เจอร่องรอยวิกฤติการณ์ชนิดที่ไม่มีเรื่องไหนเทียบได้ ไม่ว่าจะในประวัติศาสตร์ สจล. หรือประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยของรัฐ นับตั้งแต่มีการก่อตั้งมา
“ท่านรองคะ สมุดบัญชีฝากประจำ 4 เล่มนี้ปรับยอดไม่ได้ ตัวเลขอาจจะเป็นของปลอมทั้งหมด” เจ้าหน้าที่การเงินโทรแจ้งรองอธิการบดี
“ยอดเงินรวมชัด ๆ ยังบอกไม่ได้ แต่เยอะมาก ไม่ต่ำกว่าพันล้านแน่นอนค่ะ”
“เรียบร้อยแล้วครับ ได้ลายเซ็นผู้บริหารมาแล้วครับ” ทรงกลดลงลิฟต์มาที่โซฟาด้านล่างอาคาร กล่าวตอบผู้บังคับบัญชาจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่นั่งรออยู่ตั้งแต่ต้น พร้อมยื่นเอกสารให้ดู
ที่จริง ทรงกลด ย้ายมาทำงานที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้หลายเดือนแล้ว ได้รับตำแหน่งผู้จัดการสาขาบิ๊กซี ศรีนครินทร์ หลังจากก่อนหน้านั้นมีเหตุจำเป็นต้องออกจากธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อเดือนกันยายน 2556
ไม่กี่วันจากนั้น เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กลับมาที่ สจล.อีกครั้ง คราวนี้ไม่ได้มีทรงกลดมาด้วย เพราะไม่เชื่อว่าที่เห็นนี้คือลายเซ็นที่ นายเผ่าภัค ศิริสุข ได้เซ็นให้จริง ๆ
บันทึกลัก สจล. ตอนที่ 2 : โรคร้าย
[ ข้อเขียนต่อไปนี้ แต่งขึ้นโดยมีเค้าโครงหลักจากเรื่องจริง ตามเอกสาร หลักฐาน และคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ ถ้อยคำบางส่วนถูกสร้างขึ้นเพื่ออรรถรสทางวรรณกรรม ]
“อาจารย์ถวิลครับ ผอ.อำพร แกไม่กล้ามาคุยคนเดียว ก็เลยอยากให้ผมพามาด้วยกัน”
“มีเรื่องอะไรล่ะ”
“ผอ.อำพร แกสุขภาพไม่ดี ความดันขึ้น เบาหวานกำเริบ มีเรื่องต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อย ๆ มาระยะนึงแล้ว แกเลยอยากจะขอลาออกไปพักรักษาตัวเป็นเรื่องเป็นราวครับ”
4 ธันวาคม 2557 ณ ส่วนการคลัง ชั้น 3 อาคารสำนักงานอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล.
“ไม่มีปัญหาอะไรหรอกค่ะ ทรงกลดมันไม่รู้อะไร เอาแบบนี้มาให้ท่านรองเซ็น เป็นพี่ พี่ก็ไม่เซ็นเหมือนกัน”
น้ำเสียงเข้ม ๆ ในลำคอของ “พี่ปุ๊ก” อำพร น้อยสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการส่วนการคลัง พยายามให้ความสบายใจกับ ผศ.ดร.เผ่าภัค ศิริสุข รักษาการแทนรองอธิการบดีที่เริ่มได้กลิ่นแปลก ๆ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ได้ทำให้รู้สึกดีขึ้น
แค่ลายเซ็นเดียวที่ไม่ได้เซ็นเมื่อวานนี้ ทำให้ อ.เผ่า นึกย้อนไปตลอด 1 ปีกับไม่กี่วัน ที่นั่งเก้าอี้รองอธิการบดีดูแลส่วนการคลังตัวนี้ ได้เซ็นอะไรแบบนี้ไปบ้างแล้วหรือยัง
“แล้วเรื่องมันเป็นยังไง ไหนพี่ปุ๊กช่วยเอาบัญชีเล่มนี้มาดูหน่อย”
“ไม่มีอะไรหรอกค่ะ ทุกอย่างเรียบร้อยดี” ปากยังพูดแบบนี้ แต่ในสมอง ผอ.อำพร มีอะไรให้คิดเยอะมาก
อ.เผ่า หมายถึง สมุดบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา เล่มใหม่ล่าสุดที่ ผอ.อำพร ขออนุมัติถอนเงิน 80 ล้านบาทไปฝากประจำเมื่อ 2 เดือนก่อน
“…และเพื่อเป็นการจัดหาผลประโยชน์จากเงินสะสมของสถาบันฯ จึงขอเสนออนุมัติเบิกถอนเงินจำนวน 80 ล้านบาท จากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของสถาบันฯ แบ่งเป็น บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขา สจล. จำนวนเงิน 50 ล้านบาท และ บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขา นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง จำนวนเงิน 30 ล้านบาท เพื่อไปเปิดบัญชีเงินฝากประจำระยะสั้นกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาบิ๊กซี ศรีนครินทร์ โดยได้รับดอกเบี้ยอัตราพิเศษ…”
คำเสนอขออนุมัติตามแบบแผนที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายปี ซึ่งผู้มีอำนาจลงนามลากปากกาเซ็นให้ได้ง่าย ๆ นั้น ไม่เคยทำให้ อ.เผ่า เกิดความสงสัยเท่านาทีนี้มาก่อน
…เสียดายที่มันเป็นความสงสัยย้อนหลัง
สมุดบัญชีปกสีเหลืองเทาอยู่ในมือ อ.เผ่า เป็นครั้งแรก ตัวเลขยอดเงินฝากบรรทัดหนึ่ง 50 ล้าน อีกบรรทัด 30 ล้าน ลงวันเวลาสถานที่ครบตามปกติ รายการหนึ่ง 1 ตุลาคม 2557 อีกรายการ 2 ตุลาคม 2557 สองวันแรกของปีงบประมาณ 2558 พอดี
แต่ที่ไม่ปกติคือ ตัวเลขเหมือนจะเป็นตัวพิมพ์ดีดมากกว่าคอมพิวเตอร์ อีกทั้งหน้าแรก “ชื่อบัญชี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง” พิมพ์ทับอยู่บนรอยน้ำยาลบคำผิด
ซึ่งถ้าขูดแถบขาวแห้งนั้นออกดู จะพบชื่อ “นายทรงกลด ศรีประสงค์” พิมพ์อยู่แทน
อ้าว…แล้วแคชเชียร์เช็ค 2 ใบที่อนุมัติให้ถอนออกมาจาก 2 ธนาคาร ใบหนึ่ง 50 ล้าน อีกใบ 30 ล้าน เห็นบัญชีผู้รับโอนเป็นบัญชีชื่อสถาบันฯ ชัดเจน แล้วเงินออกไปอยู่ที่ไหน ?
“ผมขอดูสมุดบัญชีทุกเล่ม” คราวนี้ อ.เผ่า หมายถึงสมุดบัญชีชื่อสถาบันฯ ที่ฝากไว้กับธนาคารต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่เกือบ 70 เล่ม
การที่สถาบันการศึกษาต้องมีสมุดบัญชีเงินฝากมากขนาดนั้น มีเหตุผลอยู่บ้างว่าเพื่อให้การบริหารเงินแบ่งเป็นสัดเป็นส่วน บัญชีนี้สำหรับกองทุนนั้นกองทุนนี้ อีกบัญชีไว้สำหรับค่าใช้จ่าย ฯลฯ แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ความเชี่ยวชาญรู้จักในระดับสูง ไม่ใช่ใครก็ได้จะมาจับงานการเงินแล้วจะเข้าใจได้ทันที
ที่ชั้น 6 ซึ่งเป็นสำนักงานของอธิการบดีและรองอธิการบดี วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว หลังพบสัญญาณความผิดปกติในองคาพยพ ที่ยิ่งค้นหา ยิ่งส่อแววว่าอาการหนัก
ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดี มอบหมายให้ รศ.ดร.จำรูญ เล้าสินวัฒนา รักษาการแทน รองอธิการบดี ซึ่งดูแลส่วนนิติการ หรืองานด้านกฎหมาย เข้ามาดูแลสถานการณ์ความผิดปกติทางการเงินที่เกิดขึ้น ร่วมกับ อ.เผ่า เพราะงานนี้ดูท่าจะไม่จบลงแค่โต๊ะผู้บริหารภายในเสียแล้ว
ลำพังแค่เก้าอี้รองอธิการบดีก็เป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดอยู่แล้ว อ.จำรูญ ดีกรีปริญญาเอกจากญี่ปุ่นในสาขาพืชไร่-นา มาเป็นอาจารย์ที่คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. ยังต้องมาเจอกับความเสียหายที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสถาบัน
ก็ได้แต่หวังว่าความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการวัชพืช และ อัลลีโลพาธี (Allelopathy – ปรากฏการณ์ที่พืชชนิดหนึ่งปล่อยสารพิษออกไปทำอันตรายกับพืชข้างเคียง) อาจจะมีส่วนช่วยขุดรากถอนโคนรากพิษในสถาบันฯ แห่งนี้ได้ แม้ตนเองจะเป็นนิสิตเกษตรศาสตร์ ไม่ใช่ลูกหม้อ สจล.เหมือนอาจารย์อีกหลายคนก็ตาม
“จริง ๆ ผมไม่ได้อยู่ในหน้าที่ 100% ที่จะต้องออกมาต่อสู้ขนาดนี้ แล้วทำไมต้องออกมาต่อสู้ขนาดนี้ ผมไม่ได้เรียนลาดกระบังเลยนะครับ แต่ผมก็รักลาดกระบังไม่น้อยกว่าศิษย์เก่า หรือคนที่จบที่นี่” อ.จำรูญกล่าวประโยคนี้ในอีก 2 เดือนถัดมา
“เอาทุกเล่มไปปรับยอด” อ.จำรูญสั่งให้เจ้าหน้าที่นำสมุดบัญชีทุกเล่มไปปรับยอดกับธนาคาร
“มีบางเล่มที่ตู้ปรับยอดไม่รับค่ะ”
เจ้าหน้าที่เปิดดูบรรทัดสุดท้ายในสมุดบัญชีสีม่วง ฝากประจำ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบิ๊กซี สุวินทวงศ์ ทั้ง 3 เล่ม ด้วยใจลุ้นระทึก
เล่มแรก
คงเหลือ 510 ล้านบาท ณ วันที่ 26 กันยายน 2557
เล่มสอง
คงเหลือ 314 ล้านบาท ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2557
เล่มสาม
คงเหลือ 759 ล้านบาท ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2557
“ถ้าเครื่องไม่รับ ก็ถือไปที่เคาน์เตอร์เลย” อ.จำรูญบอกเจ้าหน้าที่ด้วยน้ำเสียงกระตุ้นเร้า แม้จะเป็นเสียงที่ส่งผ่านสายโทรศัพท์ ก็ยังรู้สึกถึงความเอาจริง
“ปรับยอดไม่ได้ค่ะ เดี๋ยวขอคีย์ตรวจสอบในระบบให้นะคะ” เจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเทคโนโลยีฯ เจ้าคุณทหาร ก็ยังแปลกใจ
แต่หลังจากนั้นไม่กี่วินาที ไม่กี่สิบคีย์ที่กดลงไปบนแป้นพิมพ์ ความฉงนสนเท่ห์ก็สิ้นสุดลง
ก็คงต้องบอกว่าไม่แปลกหรอกที่เครื่องคอมพิวเตอร์อันซื่อตรงจะไม่ปรับยอดให้ เพราะทั้ง 3 บัญชีถูกปิดไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2557 ด้วยยอดเงินสุดท้าย 0.00 บาท!
อ.จำรูญ ประชุมด่วนผู้บริหาร พร้อมด้วยส่วนนิติการ และเจ้าหน้าที่ส่วนการคลัง ก่อนจะแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงธนาคาร มาร่วมกันเดินหน้าสะสางปัญหาวัชพืชครั้งใหญ่ ชนิดที่ตำรวจท้องที่ไม่กล้ารับแจ้งความ
“ผอ.อำพร อยู่ไหน เชิญมาพบผมหน่อย” อ.เผ่าถามหา
“พี่ปุ๊กแอดมิตอยู่โรงพยาบาลค่ะ” เจ้าหน้าที่ส่วนการคลังคนหนึ่งตอบ
แม้ช่วงปีกว่าที่ผ่านมา ผอ.อำพรจะเข้าโรงพยาบาลแทบทุกเดือน เพื่อไปรักษาโรคประจำตัว แต่นี่คือครั้งสุดท้ายที่ ผอ.อำพร จะลางานไป แล้วได้พักยาว…
“อ้าว! พี่! คนเรามีนิดเดียว ถ้ามีปัญหาอะไรก็คุยกัน ถ้ามีปัญหาสุขภาพก็ไปหาหมอสิ ไม่เห็นเป็นไร ไม่ต้องถึงกับลาออกหรอก”
ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา อธิการบดี สจล.กล่าวกับ ผอ.อำพร ที่ อาจารย์สรรพสิทธิ์ ลิ่มนรรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดี พามาขอเข้าพบด้วยกันในวันหนึ่งช่วงกลางปี 2556
“ผมก็ไปโรงพยาบาลเวลาป่วย ถ้าพี่ป่วยก็ลาไปโรงพยาบาลแล้วกัน”
ด้วยเหตุนี้ จดหมายลาออกที่ อำพร พิมพ์เตรียมไว้แล้ว จึงไม่เคยมีโอกาสถูกนำมาใช้อีกเลย
บันทึกลัก สจล. ตอนที่ 3 : โทเทิล เอฟเฟกต์
[ ข้อเขียนต่อไปนี้ แต่งขึ้นโดยมีเค้าโครงหลักจากเรื่องจริง ตามเอกสาร หลักฐาน และคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ ถ้อยคำบางส่วนถูกสร้างขึ้นเพื่ออรรถรสทางวรรณกรรม ]
“เรื่องจดตั้งบริษัทของเรา เรียบร้อยแล้วนะพี่ ใบทะเบียนเพิ่งออกมาวันนี้”
“โอเค เป้ แล้วครีมล่ะ จะเสร็จขายได้เมื่อไหร่”
“เดี๋ยวจะเร่งให้ทันช่วงปีใหม่ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดนะ”
วันอังคารที่ 16 ธันวาคม 2557 ณ มุมหนึ่งของสำนักงานอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล.
“เดี๋ยวบ่ายนี้ที่เราจะไปแจ้งความ เตรียมเอกสารให้พร้อมนะ” รศ.จำรูญ เล้าสินวัฒนา รักษาการแทนรองอธิการบดี ย้ำกับเจ้าหน้าที่คนพิเศษไม่กี่คน ที่ถูกคัดเลือกให้มาค้นหาเข็มในมหาสมุทรสมุดบัญชีและเอกสารการเงินกองโตที่รื้อออกมาจากส่วนการคลัง เพื่อจะอธิบายให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสถาบันด้านนวัตกรรมระดับชาติแห่งนี้ และที่สำคัญ “ผลกระทบ” ที่สถาบันจะได้รับหลังจากนี้เป็นอย่างไร ?
ก้อนแรก 80 ล้านบาท มีเอกสารขออนุมัติถอนเงินไปเปิดบัญชีใหม่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาบิ๊กซี ศรีนครินทร์ แต่ปรากฏว่าได้บัญชีปลอมกลับมาเล่มหนึ่ง โดยไม่รู้ว่าเงินก้อนนั้นไปอยู่ที่ไหน ?
ต้องขอบคุณ นายทรงกลด ศรีประสงค์ ที่ปรากฏตัวมาขอลายเซ็นสลักหลังแบบมีพิรุธเมื่อไม่กี่วันก่อน จนทำให้รู้ทิศทางในขั้นต้นว่าจะต้องไปหยิบบัญชีเล่มไหนมาสืบดมต่อไป
นายทรงกลด หรือ อ้น เป็นบุคคลที่ชาว สจล.หลายคนรู้จักดี เพราะอ้นทำงานให้บริการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเทคโนโลยีฯ เจ้าคุณทหาร มานานสิบกว่าปี จนได้เลื่อนขั้นเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งสูงขึ้น ย้ายไปเป็นผู้จัดการที่สาขาบิ๊กซี สุวินทวงศ์ เมื่อราวปี 2555 ก่อนที่จะย้ายมาเป็นผู้จัดการที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาบิ๊กซี ศรีนครินทร์ ในปี 2557 ไม่กี่เดือนก่อนเกิดเรื่อง
ดังนั้น ถ้าจะหาให้ลึกลงไป ก็คงหนีไม่พ้นบัญชีที่เคยทำธุรกรรมที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบิ๊กซี สุวินทวงศ์ ซึ่งนายทรงกลด เคยเป็นผู้จัดการนั่นเอง
การค้นพบก้อนที่สองจึงตามมา แบบที่ทุกคนต้องตะลึง เมื่อพบว่า 3 บัญชีฝากประจำที่สาขานี้ ซึ่งตัวเลขดอกเบี้ยในสมุดขึ้นเอา ๆ ยอดคงเหลือสุดท้ายบวกกันได้ 1,583 ล้านบาท แต่ความจริงบัญชีปิดไปหลายเดือนแล้ว เท่ากับว่ายอดเงินจริงในสเตทเมนท์เป็น 0.00 บาทมานานแล้ว
ระบบการบริหารเงินของ สจล.ถูกจัดวางไว้เป็นระเบียบ ภายใต้การดูแลตรวจสอบทั้งจากภายใน ภายนอก และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยแต่ละปี สจล.จะได้เงินจากงบประมาณแผ่นดิน เงินรายได้บำรุงการศึกษา และเงินบริจาค รวมกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อแต่ละหน่วยงานได้รับงบประมาณมาก็จะหัก 5% มาเก็บไว้ในคลังก่อน เรียกว่า เงินรายได้สะสม (เงินคงคลัง)
“ในการบริหารจัดการทางด้านการเงิน สถาบันเน้นนโยบายการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ถึงแม้ว่าการปรับเปลี่ยนเป็น สถาบันในกำกับ (ของรัฐ) สถาบันสามารถปรับอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาและการให้บริการต่าง ๆ ให้สูงขึ้นได้ แต่สถาบันได้คงอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาเท่าเดิมตั้งแต่ปี 2549 มาจนถึงปัจจุบัน ด้วยการบริหารจัดการทางการเงินอย่างรอบคอบ
และให้ทุกหน่วยงานสะสมเงินอย่างน้อยปีละร้อยละ 5 ของรายได้ที่ได้รับ ดังนั้นเงินสะสมของสถาบันจึงเพิ่มขึ้นจาก 514,450,874.19 บาท ในสิ้นปีงบประมาณ 2547 เป็น 1,495,596,194.39 บาท เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2554”
ข้อความนี้ระบุชัดอยู่ในหนังสือ “รายงานผลการบริหารสถาบัน รอบ 7 ปี พ.ศ. 2548-2555” ที่รศ.ดร.กิตติ ตีรเศรษฐ อธิการบดี สจล.ในสมัยนั้น จัดทำขึ้นเพื่อสรุปการดำเนินงานของตนช่วงที่หมดวาระการดำรงตำแหน่ง ส่งไม้ต่อให้ ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา
ด้วยแนวทางนี้ ตัวเลขเงินคงคลังก้อนนี้จึงเพิ่มขึ้นราวปีละเกือบ 300 ล้านบาท มาอยู่ที่กว่า 2,000 ล้านบาทในปี 2557
ในมิติทางบัญชี เงินงบประมาณและเงินคงคลังลงตัวเลขแยกตามคณะ/สำนัก
แต่ในสมุดบัญชี เงินถูกกระจายไปฝากไว้ในหลายธนาคาร เพื่อกระจายความเสี่ยง เพื่อจัดหาผลประโยชน์ และเพื่อความชัดเจนของการใช้เงิน รวมแล้วมีกว่า 60 บัญชี
ครึ่งหนึ่งเป็นบัญชีออมทรัพย์ ส่วนอีกครึ่งเป็นบัญชีเงินฝากประจำ
มีทั้งบัญชีกองทุนต่าง ๆ บัญชีเงินเดือน เงินหมุนเวียน ค่าสาธารณูปโภค เงินกันเบิกจ่ายเหลื่อมปี เงินพักรายจ่ายทั่วไป เงินฝากประจำ เงินฝากออมทรัพย์ เป็นต้น
เงินก้อนไหนที่นิ่งนาน ยังไม่ต้องใช้ ก็จะตัดส่วนที่ยังไม่ต้องใช้ ถอนย้ายไปฝากในบัญชีฝากประจำตามระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลตอบแทนดอกเบี้ยสูง เมื่อครบกำหนด ก็ถอนกลับมา กระจายคืนเงินต้นสู่แต่ละบัญชีต้นทางพร้อมดอกเบี้ย
เอกสารการขออนุมัติฝากถอน ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะชี้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น
“ก้อน 80 ล้านนี่ครบแล้วแยกไป 1 เรื่อง ตอนนี้ต้องหาว่าเกิดความผิดปกติตรงไหนบ้างใน 3 บัญชีนี้”
อ.จำรูญ กับเจ้าหน้าที่ส่วนนิติการ และทีมทนายความ ช่วยกันไล่เรียงตามสเตทเมนท์ของบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์สาขาบิ๊กซี สุวินทวงศ์ ทั้ง 3 บัญชี ที่เงินหายไป 1,583 ล้านบาท ว่ามีรายการเบิกถอนไหน ไม่ได้อยู่ในเอกสารขออนุมัติฝากถอนบ้าง
รวมทั้งดูในสมุดบัญชีที่หลายรายการมีพิมพ์ว่าฝากเข้า แต่ในสเตทเมนท์ไม่มี ก็ต้องไปค้นว่ายอดเงินนี้ถอนมาจากไหน แล้วค้นไปถึงคำอนุมัติเบิกถอนว่ามีหรือไม่
“ในระบบราชการ ถ้าจะดูว่าถูกหรือผิด ก็ต้องดูว่ามีเอกสารขออนุมัติหรือไม่ ไม่ว่าจะฝากหรือจะถอนเงินเข้าออกจากบัญชี ทุกรายการต้องมีคำขออนุมัติ ถ้าไม่มีก็ถือว่าผิดแน่นอน” นักกฎหมายคนหนึ่งระบุ
บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์สาขาบิ๊กซี สุวินทวงศ์ ทั้ง 3 บัญชี ถูกเปิดขึ้นในปี 2555
บัญชีฝากประจำ เลขที่ 461-2-67188-5 เปิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 ยอดเงินฝากตั้งต้น 510 ล้านบาท
บัญชีฝากประจำ เลขที่ 461-3-08425-1 เปิดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2555 ยอดเงินฝากตั้งต้น 40 ล้านบาท
บัญชีฝากประจำ เลขที่ 461-3-13463-2 เปิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ยอดเงินฝากตั้งต้น 60 ล้านบาท
ทั้งหมดมีเอกสารขออนุมัติเปิดบัญชีถูกต้อง โดยทั้ง 3 เล่มยังมีรายการปรากฏในสมุดบัญชีถึงเดือน กันยายน ธันวาคม และพฤศจิกายน 2557 ตามลำดับ
ทั้งที่จริงถูกทยอยถอนเงินไปจนหมดเกลี้ยงและปิดบัญชีไปเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2557
ตัวเลขสเตทเมนท์ถูกบันทึกใส่ตารางคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เทียบง่ายขึ้นว่ารายการไหนที่ผิดปกติ ก็จะทำสัญลักษณ์เป็นตัวสีแดงไว้
“1…2…3…4… ~ …37…38…39 รวมแล้ว 3 บัญชี 39 รายการที่ไม่มีคำขออนุมัติค่ะ”
อ.จำรูญหยิบเอกสารมานับดูอีกทีให้แน่ใจ นี่คือแค่ธุรกรรมที่ทำนอกเหนือคำสั่งซึ่งปรากฏในสเตทเมนท์เท่านั้น
ยังต้องไปรวมกับธุรกรรมที่ปรากฏในคำสั่งขออนุมัติ แต่กลับไม่ปรากฏในสเตทเมนท์ หรือในสมุดบัญชี
สรุปแล้ว 3 บัญชีนี้เจอความผิดปกติ 3 แบบ คือ
1. มีคำขออนุมัติเบิกถอน > ดำเนินการเบิกถอนจริง > นำเงินนั้นไปฝากจริง > แต่มีผู้แอบถอนออกไปจนหมดแล้ว
2. มีคำขออนุมัติเบิกถอน > ดำเนินการเบิกถอนจริง > แต่เงินนั้นมิได้ถูกฝากจริง และยังทำตัวเลขปลอมไว้ในสมุดบัญชีว่าเงินเข้าแล้ว
3. มีคำขออนุมัติเบิกถอน > ดำเนินการเบิกถอนจริง > แต่เงินนั้นมิได้ถูกฝากจริง และไม่ได้ทำตัวเลขเข้าสมุดบัญชีด้วย
แบบแรกมีมากที่สุด เป็นจำนวนเงินราว 900 ล้านบาท ส่วนแบบที่สามนี้ ยังไม่รู้ว่าจะตรวจเจอเพิ่มอีกสักเท่าไหร่
ไม่กี่วันก่อน เอกสารหลักฐานชุดนี้ถูกหอบหิ้วไปที่สถานีตำรวจนครบาลจรเข้น้อย แต่ปรากฏว่าตำรวจไม่รับแจ้งความ ทั้งเนื่องด้วยเป็นช่วงเย็น แถมความเสียหายก็มาก
“ยอดเงินหายเป็นพันล้านแบบนี้ ถือเป็นคดีใหญ่ คงต้องไปแจ้งโดยตรงที่กองปราบปราม” นักกฎหมายอธิบาย
ช่วงเที่ยง ซักซ้อมกันเรียบร้อย เอกสารเรียบร้อย ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดี สจล. และ ผศ.ดร.เผ่าภัค ศิริสุข รักษาการแทนรองอธิการบดี เป็นหน่วยล่วงหน้าเดินทางไปที่กองปราบปรามก่อน
ผู้บริหารลงความเห็นกันว่า ยังไม่พร้อมให้เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ครึกโครม จึงเลือกไม่ขึ้นรถตู้ที่มีตราสถาบันไป ด้วยกัน แต่ให้แต่ละคนใช้รถส่วนตัว ขับแยกกันไปจะดีกว่า ตอนที่ออกจากสถาบันก็จะไม่ดูผิดสังเกต
รอสักพักจึงถึงเวลาที่ อ.จำรูญ พร้อมด้วยผู้อำนวยการส่วนนิติการ น.ส.วรวรรณ สุวรรณกูฏ จะเดินทางตามไปบ้าง
4 คน สจล.แยกย้ายไป นัดเจอกันที่กองบังคับการปราบปราม ถนนพหลโยธิน โดยมีทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายมารออยู่แล้ว
อาจจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะในการมาที่กองปราบปรามแบบไม่ให้เป็นข่าว เพราะกำลังมี “ข่าวใหญ่” เรื่องขบวนการแอบอ้างเบื้องสูง ซึ่งทำให้ก่อนหน้านี้ผู้บังคับการปราบปรามก็เพิ่งถูกย้ายฟ้าผ่าพร้อมนายตำรวจระดับสูงอีกหลายนาย อีกทั้งหนึ่งในระดับรองผู้กำกับการฝีมือดี ก็เพิ่งตกเป็นผู้ต้องหาและกำลังหลบหนีอยู่ด้วย
คณะผู้บริหารจาก สจล.ประกอบด้วย รักษาการแทนอธิการบดี รองอธิการบดี 2 คน และผู้อำนวยการส่วนนิติการ พร้อมด้วยทนายความ เข้าพบกับ พ.ต.อ.กรไชย คล้ายคลึง รองผู้บังคับการปราบปราม เล่าเรื่องให้ฟังทั้งหมด ก่อนที่ พ.ต.อ.กรไชย จะพาไปพบกับ พ.ต.ท.พงษ์ไสว แช่มลำเจียก พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ กองกำกับการ 6 กองบังคับการปรามปราม
“วันนี้แจ้งความเรื่องเงิน 80 ล้านก้อนแรกก่อน ที่เหลือค่อยทยอยนำหลักฐานมา ให้ไปดูความเสียหายให้ชัดเจนก่อน”
ตำรวจกองปราบดูเอกสารจำนวนมากแล้ว ตัดสินใจ “หยิบ” เรื่องที่เป็นการกระทำความผิดชัดเจนแล้วขึ้นมาก่อน นั่นคือ กรณีมีการขออนุมัติถอนเงิน 80 ล้านบาทไปฝากเข้าบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาบิ๊กซี ศรีนครินทร์ เมื่อ 1-2 ตุลาคม 2557 แต่สุดท้ายเงินไม่ได้เข้าจริง ๆ มีแต่บัญชีปลอมมาหนึ่งเล่ม ซึ่งเป็นการก่อการล่าสุดที่ร่องรอยเบาะแสยังอุ่น ๆ อยู่
ผู้บริหาร สจล.เห็นด้วยตามแนวทางของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะถ้าเป็นคดีเรียบร้อยเร็ว ก็จะออกหมายจับผู้ต้องหาได้ก่อน
ทันทีที่รับแจ้งความ มือปราบเริ่มสืบสวนในทางลับ ตรวจดูหลักฐานเอกสาร เส้นทางการเงิน จนแน่ใจได้ว่ามีอย่างน้อย 2 คนที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางการเงินนี้อย่างแน่ชัด พร้อมที่จะร้องต่อศาลขอออกหมายจับ ในฐานความผิด “ร่วมกันลักทรัพย์ ปลอม และใช้เอกสารสิทธิปลอม”
แน่นอนว่ามีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งถูกส่งไปประกบบุคคลทั้งสองแล้ว รอแต่เพียงเวลาที่จะแสดงตัวเข้าจับกุมเท่านั้น
วันเดียวกัน 16 ธันวาคม 2557 นายทะเบียนลงนามรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทอย่างเป็นทางการ หลังยื่นเรื่องไปไม่กี่วันก่อน
บริษัท เอ็ม เฟส โทเทิล เอฟเฟกต์ จำกัด จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมแล้วที่จะประกอบกิจการขายส่งขายปลีก ครีมบำรุงผิวเครื่องสำอาง
…. [edited] …
ในเอกสารทะเบียนระบุรายนามผู้ถือหุ้น 5 คน แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า บริษัทแห่งนี้คือนิติกรรมสัญญาใจระหว่างบุคคลที่ 1 และ 2 เท่านั้น ส่วนอีก 3 คน เป็นเหล่าพนักงานในบริษัทมัทธุจัดอยู่แล้ว
…. [edited] …
ครีมเครื่องสำอางที่ชูจุดเด่นว่าเป็น “โทเทิล เอฟเฟกต์” ยังผลิตไม่เสร็จเรียบร้อย แต่การจัดตั้งบริษัทเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว ย่อมชี้ว่า อนาคตที่รุ่งโรจน์ร่วมกัน กำลังรอทั้งคู่อยู่
…หากแต่ถ้าไม่ได้เจอ total effect จากสิ่งที่เคยก่อทำไว้ ย้อนกลับมาเช็คบิลเสียก่อน…
บันทึกลัก สจล. ตอนที่ 4 : ล่องหน
[ ข้อเขียนต่อไปนี้ แต่งขึ้นโดยมีเค้าโครงหลักจากเรื่องจริง ตามเอกสาร หลักฐาน และคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ ถ้อยคำบางส่วนถูกสร้างขึ้นเพื่ออรรถรสทางวรรณกรรม ]
“… พี่มีปัญหาแล้ว ไปฮ่องกงกับพี่ได้ไหม”
“เฮ้ย! พี่เป้ เกิดอะไรขึ้น แล้วจะไปเมื่อไหร่”
“อย่าเพิ่งถามมาก ต้องไปเร็วที่สุด เดี๋ยวให้คนจัดการตั๋วให้ เจอกันที่สนามบิน”
———————
“พี่อ้นยังติดภารกิจ วันนี้ไม่เข้าค่ะ” พนักงานคนหนึ่งในธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาบิ๊กซี ศรีนครินทร์ กล่าวตอบลูกค้าที่มาถามถึงผู้จัดการสาขา นายธนาคารที่บริการเป็นเลิศ เขาคนนั้นชื่อ นายทรงกลด ศรีประสงค์
ธนาคารกรุงศรีฯ อยู่ชั้นล่างตรงประตูทางออกไปที่จอดรถพอดี ตรงนี้มีธนาคารหลายแห่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน ห้องทำงานของทรงกลด อยู่ลึกด้านในสุด ถ้ามองจากด้านนอกจะไม่เห็น เพราะมีแผงตู้เอทีเอ็มกั้นอยู่ ต้องเดินเข้าไปในธนาคาร ก็จะพบกระจกฝ้าแผ่นสูงจากพื้นถึงเพดานกั้นไว้ขนาดราว 2 x 2 เมตร เป็นพื้นที่เฉพาะสำหรับผู้จัดการสาขา
ลูกค้าประจำจะรู้ดีว่า ทรงกลด ไม่ได้ถือตัว มีอัธยาศัยดี และออกมาจัดแจงให้บริการลูกค้าด้วยตนเองบ่อย ๆ
ที่จริงพนักงานเองก็สงสัยไม่แพ้คุณลูกค้า ว่าผู้จัดการที่แสนดี อบอุ่น เป็นกันเอง และทำงานรับผิดชอบอย่างมาก จู่ ๆ ก็ไม่มาทำงาน เขาหายไปไหน บางข่าวถึงขั้นว่า พี่อ้นลาออกไปแล้ว บ้างก็ว่ากำลังมีปัญหาบางอย่าง
“เกิดอะไรขึ้นกับพี่อ้นนะ” พนักงานคนหนึ่งรำพึงในใจ
————————-
“สุดช็อก!! ยักยอกเงิน ม.เทคโนลาดกระบัง คนในรวมหัว ผจก.แบงก์โกง 1.6 พันล้าน”
พาดหัวข่าวใหญ่ 21 ธันวาคม บ่าย ๆ วันอาทิตย์เกือบจะสุดท้ายของปี 2557 บนหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ เปิดประเด็นที่ฟังแล้วไม่เชื่อหู และชวนให้ช็อกอย่างที่พาดหัวไว้จริง ๆ
“แหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผยรายละเอียดกับทีมข่าวอาชญากรรม ASTV ผู้จัดการ ว่า ราว 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกสภาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้รับแจ้งเรื่องสำคัญว่ามีการตรวจสอบพบว่าเงินกองกลางของมหาวิทยาลัยจำนวน 3,000 ล้านบาท ถูกยักยอกหายไปจากบัญชีถึง 1,600 ล้านบาท และจากการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่ามีเจ้าหน้าที่การเงิน หรือผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย ร่วมกับพนักงานธนาคารเบิกจ่ายอย่างไม่ถูกต้อง”
ข่าวสารแพร่กระจายอย่างรวดเร็วสมกับยุคออนไลน์ แต่บางทีก็ไวเกินไปสำหรับคนทำงานสืบสวนสอบสวน ที่อยากจะมีเวลาได้ติดตามร่องร่อยคนร้ายอย่าง “ลับ ๆ” ให้มากที่สุด
“เราคงต้องขอหมายจับแล้ว” คำบัญชาจากตำรวจหัวหน้าชุดสืบสวนในกองบังคับการปราบปราม พร้อมสั่งให้สายสืบที่ประจำอยู่ทั้ง 2 แห่ง จับตาเป้าหมายไว้ให้ดี
——————————————
ณ ชั้น 3 ส่วนการคลัง อาคารอำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ หรือ สจล.
ส่วนการคลังเป็นส่วนงานใหญ่ที่กินพื้นที่ทั้งชั้น ปกตินักศึกษาหรือบุคลากรที่มาติดต่อเรื่องเงินจะเข้าประตูด้านหน้าลิฟต์ แต่หลายคนที่ช่วยประหยัดโดยเดินขึ้นบันได ก็จะเจอกับประตูทางเข้าหลัก ซึ่งเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เข้าทางนี้
หลายวันแล้วที่บรรยากาศในส่วนการคลังเปลี่ยนไป เปิดประตู หันไปทางซ้าย ไม่พบหน้าตาและรอยยิ้มของ “พี่ปุ๊ก” นางสาวอำพร น้อยสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการส่วนการคลัง ดังเช่นที่ผ่านมา
ที่จริงพี่ปุ๊กเคยหายไปนาน ๆ มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อกลางปีนี้เอง เธอขอลางานไปเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลไทยนครินทร์ประมาณเดือนกว่า ๆ
คราวนี้ก็เช่นกัน พี่ปุ๊กอาการป่วยกำเริบและเข้าโรงพยาบาลตั้งแต่ช่วงวันหยุดยาว 5 ธันวาคม โดยไม่ได้บอกกล่าวไว้ก่อน
ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน พี่ปุ๊กถึงจะได้กลับมาที่ห้องนี้อีก แต่ที่แน่ ๆ สภาพห้องทำงานของพี่ปุ๊กตอนนี้มันสร้างความรู้สึกกดดันผู้ที่ผ่านไปมาอย่างยิ่ง
หลายวันก่อนผู้บริหารสถาบันฯ สั่งให้คนเข้ามายกเอกสาร ข้าวของ เครื่องคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงลิ้นชักเก็บเอกสารสำคัญทั้งหมดในห้องพี่ปุ๊ก ขนย้ายขึ้นไปชั้น 6 ด้านในลึกสุด ซึ่งเป็นที่ตั้งของห้องนิรภัย
เอกสารถูกมัดแยกเป็นกอง ๆ ตามแหล่งที่ค้นพบ กองนี้ลิ้นชักบน กองนี้ตู้ชั้นล่าง ฯลฯ รวม ๆ แล้วกว่า 20 มัด ถูกจัดเรียงเข้าเซฟขนาดใหญ่ ปิดล็อกไว้อย่างแน่นหนา
ส่วนห้องทำงาน ที่ยังคงมีเอกสารหลงเหลือเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงสิ่งของตกแต่ง ถูกล่ามโซ่ประตูปิดตาย กั้นบริเวณ ไม่ให้บุคคลใดเข้าไปได้อีก
ภาพนี้ไม่ใช่สิ่งปกติที่จะเห็นกันในสถาบันการศึกษา
———————————
“พวกคนที่ทำเรื่องนี้ ย่ามใจขึ้นเรื่อย ๆ”
รศ.ดร.จำรูญ เล้าสินวัฒนา รักษาการแทนรองอธิการบดี ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะทำงานตรวจสอบบัญชีเงินฝาก กล่าวพลางพลิกดูเอกสาร
บัญชีเงินฝากประจำธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบิ๊กซี สุวินทวงศ์ 3 เล่มในชื่อบัญชี สจล. ตัวเลขเงินฝากขึ้นตามอัตราดอกเบี้ย แต่เมื่อดูสเตทเมนต์รายการเดินบัญชี ไม่มีเงินเหลืออยู่แล้วสักบาท แถมบัญชีก็ถูกปิดไปแล้ว
รายการในสมุดเงินฝาก มีแต่เงินฝากเข้า ดอกเบี้ยฝากเข้า แต่ในสเตทเมนต์ มีแต่ยอดถอน ถอนแล้วถอนอีก
“บัญชี 885 เรามีคำสั่งอนุมัติถูกต้อง ให้ถอนเงิน 510 ล้านบาท ไปเปิดบัญชีเงินฝากประจำ 3 เดือน เปิดบัญชีเมื่อ 26 มิถุนายน 2555”
ทีมตรวจสอบมีวิธีเรียกขานบัญชีเงินฝากแต่ละเล่ม โดยใช้เลขบัญชี 3 ตัวสุดท้าย ซึ่งช่วยให้ประหยัดเวลาและเข้าใจง่ายขึ้น
“แต่ดูนี่ วันที่ 19 กรกฎาคม ฝากยังไม่ถึงเดือนมีคนไปถอนแล้ว 18 ล้าน โอนออกไปเฉย ๆ เลย ดูที่เรา คำสั่งก็ไม่มี ไม่มีต้นเรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น” รศ.ดร.จำรูญ ตั้งข้อสังเกต
บัญชี 885 เป็นบัญชีฝากประจำเล่มแรกที่ สจล.เปิดกับธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบิ๊กซี สุวินทวงศ์ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ ข้ามถนนไปใช้บริการสาขาเทคโนโลยีฯ เจ้าคุณทหาร มาโดยตลอด
——————————
เมื่อดูจากวันที่แล้ว บัญชี 885 เล่มนี้ถูกเปิดขึ้นในสมัยที่มีอธิการบดีชื่อ รศ.ดร.กิตติ ตีรเศรษฐ ช่วงส่งท้าย ไม่กี่วันก่อนจะพ้นวาระการดำรงตำแหน่งพอดี
“ผมเซ็นเปิดบัญชีเล่มนี้เอง” รศ.ดร.กิตติ กล่าวยืนยันพร้อมแสดงสำเนาใบนำฝาก ระบุชัดเจนว่ามีเงินฝากเข้า 510 ล้านบาท ด้านล่างมีลายเซ็นผู้นำฝาก ที่พออ่านออกว่าเป็น “อำพร น้อยสัมฤทธิ์”
แม้เวลาจะผ่านไป 2 ปีกว่าแล้ว แต่เอกสารสำคัญยังอยู่ครบ รวมทั้งสำเนาหน้าสมุดบัญชีทุกเล่มที่รวบรวมไว้ในเอกสารการส่งมอบงานให้ ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา อธิการบดีคนใหม่ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2555
สองท่านนี้เคยเป็น “คู่แข่ง” สูสีกันในการชิงเก้าอี้อธิการบดีมาแล้ว 2 สมัย มาครั้งนี้ รศ.กิตติ ลงสมัครอีกไม่ได้ เพราะดำรงตำแหน่งครบ 2 วาระติดต่อกันแล้ว
“ผมเรียกดูสมุดบัญชีเล่มนี้ และเห็นยอดเงิน เป็นตัวพิมพ์คอมพิวเตอร์ชัดเจน ไม่ใช่พิมพ์ดีดแน่นอน” รศ.กิตติ กล่าว
——————————————
26/06/2012 *****510,000,000.00******INTEREST3.2000
ตัวเลขพิมพ์คอมพิวเตอร์ตามปกติ แต่ตรงเลข 3 ของอัตราดอกเบี้ย เป็นตัวเลขที่เขียนด้วยปากกาบนคราบน้ำยาลบคำผิด มีตราประทับและลายเซ็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร
บัญชี 885 เป็นสมุดบัญชีเล่มสุดท้ายที่เปิดขึ้นในสมัย รศ.ดร.กิตติ และ ถ้าตามเอกสารอนุมัติและสมุดบัญชีแล้ว ไม่มีรายการฝากถอนเกิดขึ้นอีกในวาระของ รศ.ดร.กิตติ
แต่ถ้าดูตามสเตทเมนต์แล้ว มีอีก 1 ธุรกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2555 วันสุดท้ายของการรักษาการอธิการบดี เพราะวันรุ่งขึ้นก็จะถือว่าเป็น “ยุค” ของ ศ.ดร.ถวิล อย่างเป็นทางการ
19/07/2012 *****************************18,000,000.00
ยอดถอน 18 ล้านบาท ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2555 เวลา 14:14:53 น. ปรากฏในสเตทเมนต์ แต่ไม่ปรากฏในสมุดบัญชี
ยอดถอนนี้ไม่มีคำสั่งอนุมัติจากสถาบันฯ เป็นปริศนาว่า ถอนโดยไม่บันทึกลงสมุดบัญชีนั้น ทำได้อย่างไร ?
“บางทีก็เป็นไปได้ที่จะวางกระดาษไว้บนสมุดบัญชีก่อนใส่เครื่องพิมพ์ เวลาพิมพ์รายการก็จะพิมพ์ลงกระดาษ แต่ไม่ลงในเล่มสมุด ก็จะทำให้ไม่เห็นรายการปรากฏอยู่” อดีตนายธนาคารคนหนึ่งวิเคราะห์
—————————————
ธรรมชาติของบัญชีฝากประจำ คือ ฝากแล้วฝากเลย ไม่มีเหตุให้ต้องเรียกดู ปรับยอด หรือแม้แต่ขอสเตทเมนต์ เพราะถ้าบัญชีฝากประจำยังปกติ ขอสเตทเมนต์มาก็ไม่มีรายการอะไรให้ดู จนกว่าจะครบกำหนด 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี จึงจะมีดอกเบี้ยเข้า
แนวคิดนี้อาจจะใช่ สำหรับผู้ที่ถือบัญชีส่วนตัวคนเดียว
อาจจะใช่ ถ้านายธนาคารปฏิบัติตามจรรยาบรรณและระเบียบ
แต่สำหรับหน่วยงานใหญ่
กลายเป็นมโนทัศน์ที่ทำให้เกิด “ช่อง” ให้คน “ฉวย” ได้แบบง่าย ๆ
—————————————————
“แล้วเงินพวกนี้ไปไหน?” คำถามที่ยังไม่มีคำตอบปรากฏอยู่ในรายการสเตทเมนต์
39 รายการเบิกถอนออกไปจากบัญชีทั้ง 3 จนหมดเกลี้ยงยอดเงินรวมกว่า 1,500 ล้านบาท มีทั้งรายการยอดหลักแสน ไปจนถึงหลักร้อยล้าน แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็น 8 หลักทั้งสิ้น
ช่วงเวลาที่เบิกถอนก็มีตั้งแต่เปิดบัญชีในปี 2555 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2557 ในสมัยผู้บริหารชุดปัจจุบันก็ยังมี!
“แล้วใครเซ็นเบิก และเบิกไปให้ใคร ?”
เอกสารจากธนาคารเท่านั้นที่จะช่วยตอบคำถามเหล่านี้ได้….
——————————————
วันที่ 22 ธันวาคม 2557 ศาลอาญาอนุมัติหมายจับเลขที่ 2320/2557 เพื่อจับกุม นางสาวอำพร น้อยสัมฤทธิ์ และ นายทรงกลด ศรีประสงค์ ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ ปลอม และใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 264, 265 และ 268 ประกอบมาตรา 83
ค่ำวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวนายทรงกลดได้ที่บ้านพักย่านอ่อนนุช ส่วนนางสาวอำพร ถูกควบคุมตัวขณะพักรักษาอาการป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล
———————————————————
“พี่อ้นถูกจับแล้ว” พนักงานคนหนึ่งคุยกับเพื่อน
บรรยากาศที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาบิ๊กซี ศรีนครินทร์ แม้จะเปิดไฟสว่างไสว แต่อึมครึมทางจิตใจกันอย่างเห็นได้ชัด
ชื่อสาขาธนาคารไปปรากฏอยู่ในแทบทุกสื่อ ในฐานะต้นสังกัดของผู้ต้องหา ซึ่งก็คือผู้จัดการที่เพิ่งถูกจับกุมนี้เอง
ทำให้บรรดาพนักงานต่างเสียขวัญไปตาม ๆ กัน
สำนักงานใหญ่มีคำกำชับมาที่สาขา ห้ามตอบคำถามหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยให้เป็นหน้าที่ของส่วนกลาง และขอให้ทำงานบริการลูกค้ากันตามปกติ
ไม่ใช่แค่กำชับสาขานี้ แต่สาขาที่ตั้งอยู่ใน สจล.ก็ได้รับโทรศัพท์แจ้งมาด้วยเช่นเดียวกัน
ระหว่างนี้สำนักงานใหญ่จำเป็นต้องจัดหาผู้จัดการเวียนเข้ามาทำหน้าที่ กว่าจะได้ตัวผู้จัดการคนใหม่มารับหน้าที่ต่อ ก็ผ่านไปหลายสัปดาห์แล้ว
———————————————
23 ธันวาคม 2557 “เป้” นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด และ … ออกเดินทางไปฮ่องกงด้วยกัน
ราวกับรู้ตัวว่า อีกไม่กี่วันถัดมา ชื่อของตนเองกำลังจะปรากฏอยู่ในหมายจับฉบับถัดไป
คนกับตัวเลขในบัญชีก็คงเหมือนกัน ถ้าจะยักย้ายหรือทำให้หายไปแล้ว ก็ไม่ยากเท่าไหร่หรอก…
บันทึกลัก สจล. ตอนที่ 5 : เป็นเพียงข่าว
[ ข้อเขียนต่อไปนี้ แต่งขึ้นโดยมีเค้าโครงหลักจากเรื่องจริง ตามเอกสาร หลักฐาน และคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ ถ้อยคำบางส่วนถูกสร้างขึ้นเพื่ออรรถรสทางวรรณกรรม ]
“ผมไม่รู้มาก่อนว่ามีการทุจริต”
นายทรงกลด ศรีประสงค์ หรือ อ้น นายธนาคารหนุ่ม ในชุดเสื้อกันหนาวคอเต่าสีเลือดหมู กล่าวอย่างฉะฉานต่อหน้าสื่อมวลชน ด้วยสีหน้าเรียบเฉย แต่ดวงตาก็ดูไม่ค่อยจะสบายใจนัก แม้บางจังหวะจะมีรอยยิ้ม แต่ก็ค่อนไปทางฝืนยิ้มมากกว่า
อ้น ตกเป็นผู้ต้องหารายแรกที่ตำรวจนำมานั่งโต๊ะแถลงข่าว ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช้าวันที่ 23 ธันวาคม 2557 หลังจากเมื่อคืนถูกตำรวจเข้าควบคุมตัวตามหมายจับ และมีการสอบปากคำอย่างเข้มข้น
“ในส่วนของธนาคาร เราก็ทำถูกกฎระเบียบของธนาคารอยู่แล้ว เพราะว่าโดยปกติธนาคารจะทำรายการอะไร ก็ต้องมีใบฝากใบถอนอยู่แล้ว ส่วนเหตุผลที่จะให้ทำเนี่ย เราก็ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลอะไร” เขาตอบนักข่าว
“แต่โดยส่วนตัวแล้ว เป็นพนักงานธนาคารน่ะครับ เราก็ต้องทำตามในสิ่งที่ลูกค้าต้องการให้เราบริการ” อ้นชี้แจงด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ อ่อนน้อม
“เราไม่ระแคะระคายเลยเหรอ ว่าเราจะเข้าไปสู่การพัวพันกับเรื่องทุจริต” นักข่าวถาม
“ไม่เลยครับ เพราะหนึ่ง เขาเป็นสถานที่ราชการ และอีกอย่างถ้าเผื่อมีการทุจริตจริง มันก็น่าจะมีอะไรที่มันเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว”
——————————————
“โอ้โห นี่มันทำมาก่อนหน้านี้แล้ว” รศ.ดร.จำรูญ เล้าสินวัฒนา รักษาการแทนรองอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. ณ วันนี้รับหน้าที่ตรวจสอบความผิดปกติทางการเงินในบัญชีของสถาบันฯ
หลายความรู้สึกนึกคิด เกิดขึ้นระหว่างกำลังรับฟัง รับรู้เรื่องราวจาก ผศ.ดร.เผ่าภัค ศิริสุข รักษาการแทนรองอธิการบดี ที่ดูแลส่วนการคลัง ซึ่งกำลังเผชิญกับความทุกข์มากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต
“วันนั้นผมมือสั่นเลย ทำอะไรไม่ถูก” อ.เผ่า ทบทวนเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้
“หลังจากเกิดเรื่องเช็ควันนั้น ผมก็พยายามขอดูสมุดบัญชีกรุงศรีเล่มที่บอกว่าเงิน 80 ล้านไปเข้า พยายามโทรหาพี่ปุ๊ก แต่พี่ปุ๊กก็อยู่โรงพยาบาล ทำอะไรไม่สะดวก”
พี่ปุ๊ก หรือ นางสาวอำพร น้อยสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการส่วนการคลัง มือวางอันดับ 1 ด้านการเงินของสถาบันมาหลายปี หลังจากเมื่อ 3 ธันวาคม 2557 ที่พาทรงกลดมาหา รุ่งขึ้นก็เข้าโรงพยาบาล แล้วก็ไม่ได้กลับเข้ามาที่ สจล.อีกเลย
“สุดท้ายพอทวงมากเข้า ทรงกลด ก็เอาสมุดบัญชีมาให้ดู”
12 ธันวาคม 2557 ทรงกลดหวนกลับมาที่ สจล.อีกครั้ง พร้อมกับของติดไม้ติดมือมาเป็นของขวัญในงานปีใหม่สถาบันฯ ซึ่งทรงกลดเคยสัญญาไว้ครั้งก่อนว่าธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่จะอนุเคราะห์ทีวีจอแบน และ ทองคำ 4 เส้น
“ทรงกลดเอาทอง 4 เส้นมาให้ด้วย ดีนะที่ผมไม่ได้รับไว้ ผมบอกไปว่าให้ทรงกลดมาเป็นเกียรติ มอบเองในนามธนาคาร ในงานปีใหม่ของเราเลย” อ.เผ่า ระบายด้วยความโล่งใจ
—————————————————
สิ่งที่ อ.เผ่าต้องการมากกว่าในเวลานี้ คือ สมุดบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่มันควรจะต้องเป็นบัญชีออมทรัพย์พิเศษ ในชื่อสถาบันฯ
“เจอแล้ว ที่จริงสมุดอยู่บนโต๊ะพี่ปุ๊กนี่เองครับอาจารย์” ทรงกลดแถลง
อ.เผ่า รับมา เปิดสมุดบัญชีดูหน้าแรก แม้จะพิมพ์ชื่อบัญชี “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง” แต่ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น กลับตอกย้ำว่าเกิดความผิดปกติขึ้นแล้ว
“เห็นไหมครับว่าเงินเข้าแล้วจริง ๆ” ทรงกลดสอบถามผลงาน
ยังไม่ต้องถึงหน้านั้น แค่รอยน้ำยาลบคำผิดตรงชื่อบัญชี ก็ทำให้ อ.เผ่า รู้สึกราวหัวใจหล่นวูบ รีบปิดสมุดบัญชี และหาทางส่งทรงกลดให้ออกจากห้องไปให้เร็วที่สุด
“ขอบคุณมากครับ ไว้ผมจะติดต่อไปใหม่”
เหมือนสมุดบัญชีเล่มนั้นมีอะไรลึกลับซ่อนอยู่ เมื่อได้อยู่ลำพัง อ.เผ่า จึงต้องรวบรวมความกล้า หยิบสมุดมาเปิดดูอีกครั้ง
ด้วยความอยากรู้ อ.เผ่า ยกสมุดหน้าแรกขึ้นส่องกับไฟ นอกจากจะพบว่า ช่องชื่อบัญชี ใต้รอยน้ำยาลบคำผิดจะเป็นชื่อ “ทรงกลด” เองแล้ว ยังเห็นรอยรายการธุรกรรมที่อยู่ด้านใน
ปรากฏว่า สมุดบัญชีหน้าแรกกับหน้าสอง ถูกติดผนึกกาวไว้อย่างแนบเนียน ข้างในมีรายการฝากถอนเงินที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสถาบันฯ
ส่วนหน้าที่มีรายการฝากถอนของสถาบัน ก็ดูแปลกตาพิกล เพราะมันเป็นตัวพิมพ์คมกริบ ไม่เหมือนเวลาพิมพ์ออกมาจากเครื่องพิมพ์แบบหัวเข็มที่ใช้กันในธนาคาร
———————————————
“ผมก็ว่าฟอนต์นี้เคยเห็นที่ไหน คุ้น ๆ นะ” อ.เผ่า เล่าเสริมถึงตัวอักษรที่พบในสมุดบัญชีกรุงศรีเล่มนั้น
“แล้วผมก็นึกออกว่า ผมเคยเห็นฟอนต์แบบนี้ที่ไหน”
ลักษณะอักษรแบบนี้ ผ่านตา อ.เผ่า มาแล้วอย่างน้อยครั้งหนึ่ง ตอนที่ขอให้พี่ปุ๊กนำผลการโยกย้ายเงิน 80 ล้านบาทนี้มาให้ดู
เงิน 80 ล้านบาทก้อนนี้มีเส้นทางการขออนุมัติโอนมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก คือ ถอนจากธนาคารกรุงศรี สาขา สจล. 50 ล้าน และกรุงไทย นิคมลาดกระบัง อีก 30 ล้าน รวมเป็น 80 ล้าน มาฝากบัญชีออมทรัพย์พิเศษที่ กรุงศรี บิ๊กซี ศรีนครินทร์
จากนั้นไม่นาน น.ส.อำพร ก็ทำเรื่องขออนุมัติย้ายเงิน 80 ล้านจากกรุงศรี บิ๊กซี ศรีนครินทร์ ไปเข้าบัญชีฝากประจำ ไทยพาณิชย์ สาขาบิ๊กซี สุวินทวงศ์
“ใช่เลย ตัวอักษรตัวเลข เหมือนที่อยู่ในบัญชีไทยพาณิชย์เล่มนั้น ที่พี่ปุ๊กเอามาให้ดูว่าเงินเข้าแล้ว” อ.เผ่าคิดออก
สุดท้ายจึงมาพบว่านี่คือละครตบตา เงินไม่ได้ออกไปไหนหลายทอดอย่างที่บันทึกในเอกสารสถาบัน
เพราะตามเส้นทางธุรกรรมจริง เงินที่ออกจากกรุงศรี 50 ล้าน และกรุงไทย 30 ล้าน ถูกโอนตรงไปเข้าบัญชีของ “นายพูนศักดิ์ บุญสวัสดิ์” เลยทันที ไม่มีการไปฝากเข้าบัญชีสถาบัน ดังนั้นการขอโอนจากกรุงศรีไปไทยพาณิชย์ในรอบหลัง จึงเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นจริง
เรื่องจริงคือเงิน 80 ล้านหายไปตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม วันแรกที่ถอนแล้ว
“แล้ว พูนศักดิ์ เป็นใคร ? ค้นประวัติใน Google ก็ไม่เจอ เจอแต่ว่าเคยรับเงินช่วยเหลือน้ำท่วม” อ.จำรูญ คิดว่าเรื่องนี้คงเกินกว่าจะตามหาได้ เพราะตรวจสอบหมดแล้วไม่ใช่คนในสถาบัน
เรื่องยังไม่จบเท่านั้น เพราะเมื่อหยิบสมุดบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบิ๊กซี สุวินทวงศ์ ทั้ง 3 เล่มมาดู ก็พบตัวอักษรในแบบที่คุ้น ๆ นั้นอยู่เต็มไปหมด
ส่งสัญญาณชัดเจนว่ามีปัญหา ไม่ใช่แค่เล่มเดียว แต่ 4 เล่ม!! จนนำมาสู่การหอบสมุดบัญชีทั้งสี่เข้าแจ้งความ
และเมื่อดูวันเดือนปีของบัญชีที่ค้นพบใหม่ ล้วนเปิดมาก่อนหน้านี้ 2 ปีทั้งสิ้น…
————————————————
“เฮ้ย! ข่าวออกแล้ว”
“เราแยกกันไปแจ้งความ เพราะไม่อยากให้เป็นข่าว กลัวทรงกลดจะหนี แต่ตอนนี้นักข่าวรู้แล้ว เราคงต้องทำอะไรสักอย่าง” เสียงหนึ่งในวงหารือของผู้บริหารระดับสูง สจล. ในเช้าวันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม 2557
“ทางตำรวจยืนยันว่าล็อคเป้าหมายไว้แล้ว ยังไงก็คงไม่หนีไปไหน”
“เราจะออกแถลงการณ์ในนามสถาบัน แต่เราคงให้สัมภาษณ์ไม่ได้ เดี๋ยวจะมีผลต่อรูปคดี”
“งั้นวันนี้ คงต้องยืนยันข้อเท็จจริงไปก่อน”
ราว 14.00 น จึงมีแถลงการณ์ สจล. ฉบับที่ 1 ยืนยันว่าพบความผิดปกติทางการเงินของสถาบัน เผยแพร่ออกมาอย่างเป็นทางการ ลงชื่อ ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดี
“ผู้บริหารของสถาบันชุดปัจจุบันซึ่งเป็นชุดรักษาการ ได้พบความผิดปกติของบัญชีเงินฝากธนาคารของสถาบันเมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ.2557 จึงได้ทำการตรวจสอบบัญชีเงินฝากธนาคารท้หมดของสถาบัน และพบว่ามีเงินฝากในบัญชีธนาคารบางบัญชีได้ถูกถอนออกอย่างผิดปกติ ตั้งแต่ปลายปี 2555 จึงได้รายงานต่อสภาสถาบัน และมอบหมายให้คณะทำงานเข้ามาตรวจสอบกรณีดังกล่าวในทันที”
“ซึ่งสถาบันได้ร้องขอให้พนักงานสอบสวนเข้ามาทำการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาผู้กระทำผิดแล้ว และเชื่อว่าจะทราบผู้กระทำผิดในเร็ว ๆ นี้ ส่วนจำนวนเงินที่เสียหายนั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อความถูกต้องต่อไป”
“อย่าลืมใส่ประโยคนี้ไปด้วย” ผู้บริหารคนหนึ่งกำชับ “ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานและการดำเนินงานตามปกติของสถาบันแต่อย่างใด”
———————————————————
“มีการปลอมแปลงสมุดบัญชีจริงไหมคะ” นักข่าวสาวถามต่อ
“ผมยังไม่เห็นนะครับ” ทรงกลด ตอบ
“ที่บอกว่าคุณทรงกลดปลอมแปลงบัญชี” นักข่าวสาวคนเดิมถามต่อโดยไม่รอให้เกิดความเงียบจากคำปฏิเสธแรก
“อันนั้นเป็นเพียงข่าวนะครับ” ทรงกลด ก็ตอบได้ทันทีเหมือนกัน
ทรงกลด พยายามวางตัวเองให้อยู่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธนาคารซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งลูกค้า
“ทุก ๆ ธนาคารความปลอดภัยในการฝากเงินนั้นสูงสุดอยู่แล้ว แต่ทีนี้การทำฝากเงินถอนเงิน ถ้าเราดูแล้วมีใบฝาก ใบถอน มีการเซ็นทุกอย่างครบ มีสมุดบัญชี เราก็ไม่สามารถปฏิเสธการทำรายการทุกอย่างได้นะครับ”
“เท่ากับว่ายืนยัน” นักข่าวสอบถาม
“ผมยืนยันในการปฏิบัติงานครับ” ทรงกลดตอบ
ทันทีที่สิ้นเสียงคำตอบนี้ของ “อ้น-ทรงกลด” “รองอ้อ” พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี รองผู้บังคับการปราบปราม รักษาการแทนผู้บังคับการปราบปราม ก็สวนขึ้นมาทันควัน
“ก็ต้องเรียนอย่างนี้ครับ สิ่งที่ผู้ต้องหาได้พูดเรารับฟังทุกเรื่อง แต่ว่าจะเชื่อหรือไม่ อยู่ที่ดุลยพินิจของพนักงานฝ่ายสอบสวนครับ”
ทรงกลดหันขวับไปหาต้นเสียง แต่ทำอะไรไม่ได้ พลางพยักหน้าเหมือนจะเห็นด้วย
“จากหลักฐานที่มีสามารถยืนยันออกหมายจับได้ ผมขอยืนยันว่าเรามีหลักฐานชัดเจน 100% ครับ” รองอ้อตอกตะปูปิดฝา
ทรงกลดยังรักษาท่าทางใจดีสู้ตำรวจ
พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกตำรวจ ขยายความถึงคดีความและหันไปถามทรงกลดแทนนักข่าวว่า ตอนที่จะโอนเงินสถาบันจำนวนมาก ๆ ผู้ต้องหาได้โทรศัพท์ไปสอบถามผู้บริหารบ้างหรือไม่
“คือ เวลาเอารายการมาทำ ผู้มีอำนาจลงนามเป็นคนให้เราทำอยู่แล้ว สมุดบัญชีองค์กรไม่ได้เซ็นคนเดียวอยู่แล้ว” ทรงกลดตอบ
“อย่างบัญชีที่มีปัญหานี่ก็ต้องเซ็น 2 ใน 4 เมื่อเราไปเอารายการมาทำ ก็มีลายเซ็น 2 ใน 4 อยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าฝากคนคนหนึ่งมาทำ”
“แล้วเราได้ติดต่อผู้บริหารไหม” โฆษกตำรวจถามหาคำตอบที่ยังไม่ได้รับ
“อ่อ ติดต่อครับ แต่ไม่ได้ทุกครั้ง เพราะมั่นใจอยู่แล้วครับท่าน”
——————————————
“เรารอดแล้ว” เสียงหนึ่งผุดในใจชายคนหนึ่งที่ฮ่องกง
“ต้องขอบคุณที่มีข่าวออกมาก่อน”
********************************************************
แม้แต่ตัวผมเอง ก็ยังมีข้อสงสัยอีกมากมาย ที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย หวังว่าวันหนึ่ง จะมีโอกาสมาไล่เรียง เรียบเรียง เรื่องสำคัญนี้ใหม่ให้ครบถ้วนยิ่งขึ้นครับ
พบกันในอนาคตครับ