มีหนังสือประวัติของ “สตีฟ จ็อบส์” มากมายหลายเล่มวางขายในท้องตลาด แต่เล่มนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งในเล่มที่ให้ทั้งมุมมองและบรรยากาศจากยุคที่สตีฟยังมีชีวิต จนถึงช่วงเวลาสุดท้าย ได้อย่างมีอรรถรส
หยิบหนังสือเล่มนี้มาแนะนำใน #อ่านแล้ว เนื่องในโอกาสครบ 7 ปี ที่สตีฟ จ็อบส์ เสียชีวิต
กว่าจะเป็น สตีฟ จ๊อบส์
หนังสือเล่มหนาเกือบ 600 หน้า ฉบับภาษาไทยจัดพิมพ์โดย เนชั่นบุ๊คส์ เมื่อตุลาคม 2558 แปลมาจากภาษาอังกฤษที่ชื่อว่า “Becoming Steve Jobs” เขียนโดย Brent Schlender และ Rick Tetzeli
จุดแตกต่างของหนังสือเล่มนี้ กับ อัตชีวประวัติสตีฟ จ็อบส์ เล่มอื่น ๆ คือ การเขียนด้วยมุมมองและทักษะของนักข่าว ซึ่งรู้จักและไปมาหาสู่กับสตีฟ ตั้งแต่ครั้งแรกที่เขาได้สัมภาษณ์สตีฟ ช่วงที่เพิ่งถูกกดดันให้ออกจาก Apple มาพักหนึ่ง และกำลังปลุกปั้นบริษัท NeXT เพื่อหวังจะล้ม Apple ให้ได้
— “คุณเพิ่งมาใหม่ ใช่ไหม” นั่นคือประโยคแรกที่เขาพูดกับผม — บทแรกของหนังสือเล่มนี้ เปิดด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ และถัดไปด้วยข้อความในวงเล็บที่ทำหน้าที่มากกว่าแค่การขยายความ — (คำพูดสุดท้ายที่เขาพูดกับผมในอีก 25 ปีต่อมา คือ “ผมขอโทษ”) — ซึ่งมาจากเหตุการณ์สุดท้ายที่สตีฟ ยกหูโทรศัพท์ถึงเขา
ในระหว่างทางของการเล่าเรื่องแฝงไว้ด้วยอรรถรสมากมาย และเก็บรายละเอียดชนิดที่หาอ่านจากหนังสือเล่มอื่นไม่ได้ เพราะผู้เขียนถอดมาจากเสียงที่บันทึกไว้ หรือกระดาษที่จดไว้ตั้งแต่ช่วงเวลานั้น ๆ ในฐานะเป็นนักข่าวที่ได้สัมภาษณ์สตีฟบ่อยครั้ง เป็นคนที่ได้นัดบิลเกตส์มาสัมภาษณ์ที่บ้านของสตีฟและขึ้นปกร่วมกัน เป็นคนที่สตีฟเคยดูแลการรักษาพยาบาลตอนป่วยหนัก (หลายคนมักจะเล่าถึงประสบการณ์กับสตีฟในมุมนี้) และสนิทสนมถึงขั้นว่า สตีฟไว้ใจบอกความลับให้รู้ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพที่ย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ
สำหรับคนที่ต้องการเรียนรู้จากวิถีชีวิตและความคิดของสตีฟ จ็อบส์ หนังสือเล่มนี้เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่ไม่ควรขาดไป
#อ่านแล้ว ได้อะไร ?
* รับรู้เบื้องหลังเหตุการณ์สำคัญหลายครั้งในระหว่างเส้นทางชีวิตของสตีฟ จ็อบส์
* เข้าใจการทำงานของนักข่าวต่างชาติ ในระดับที่เข้าถึงบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญ
* สตีฟ จ็อบส์ จากมุมมองคนสนิท
* การเปลี่ยนแปลงวิถีความคิดของสตีฟ จ็อบส์หลังจากรู้ว่าตนเองป่วยใกล้ตาย
* การเริ่มต้นอาการป่วยของสตีฟ จ็อบส์
* รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในช่วงวาระสุดท้ายของสตีฟ จ็อบส์ ไม่ว่าจะเป็น การไม่ตัดสินใจรักษาอย่างทันท่วงที จนอาจมีส่วนทำให้การแก้ปัญหาสายเกินไป / ทิมคุก (ซีอีโอ Apple คนปัจจุบัน) เคยยื่นข้อเสนอบริจาคตับให้ แต่สตีฟจ๊อบส์ห้ามไว้ / การจัดพิธีฝังศพและไว้อาลัย
#อ่านแล้ว ประทับใจ
หนึ่งในความรู้สึกแฝงที่ชัดมากของผู้เขียน ซึ่งสัมผัสได้ระหว่างการอ่านหนังสือเล่มนี้ คือ การที่ผู้เขียนเสียใจกับการยึดติดในความขุ่นเคือง จนทำให้ไม่ได้บอกลา
“…หน้าร้อนปีนั้นเขาโทรศัพท์มาถามว่า ผมอยากไปเดินเล่นคุยกับเขาไหม… แต่ตอนนั้นผมอารมณ์ขุ่นมัวด้วยหลายสาเหตุและไม่รู้ว่าสตีฟป่วยหนักขนาดไหน แทนที่จะตอบรับคำชวน ผมกลับโวยวายใส่เขา และเล่าความไม่พอใจต่าง ๆ นานา … สตีฟดูเหมือนจะอึ้งจนพูดไม่ออก พอผมพูดจบ เขาเงียบไปครู่หนึ่งก่อนจะบอกว่าเขาเสียใจจริง ๆ …ผมติดต่อผู้ช่วยเขาเพื่อนัดหมายวันเวลา แต่ทำอย่างไม่เต็มใจนัก แต่พอมีเรื่องติดขัดขึ้นมานิดหน่อย ผมก็เลิกล้มความตั้งใจ จนต้องมานั่งเสียใจไม่รู้จบ”
ทุกการตัดสินใจ นำมาซึ่งผลสืบเนื่อง ก่อนที่คุณจะตัดสินใจอะไร คุณแน่ใจหรือยัง ว่าพร้อมจะอยู่กับการตัดสินใจนั้นไปตลอดชีวิต ?