ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของการเรียน คือ วัยเด็ก แล้วถ้าเด็กป่วย จนไปโรงเรียนไม่ได้ล่ะ ?
เป็นเรื่องน่าห่วงที่ต้องมีคำตอบ และคำตอบนั้นมีชัดเจนขึ้น จากความร่วมมือ 4 หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ วอรด์เด็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพราะทรงห่วงใยเด็กๆ ที่เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการของโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคกระดูก โรคไต ซึ่งมีจำนวนมาก จึงมีพระราชดำริในการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยแบ่งเบาภาระของครู ให้เด็กสามารถศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจากสื่อการเรียนการสอน และไม่เกิดความเบื่อหน่าย จึงเกิดเป็น “ศูนย์คอมพิวเตอร์เพื่อเด็กป่วย” ขึ้น เมื่อปี 2538 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
และปี 2540 ได้ขยายโครงการออกไปยังโรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ต่อมากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เล็งเห็นประโยชน์จึงขยายโครงการไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค จนปัจจุบันมีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการแล้ว 40 แห่งใน 36 จังหวัดทั่วประเทศ
จากการที่ไม่ทรงละเลยแม้ในจุดเล็ก ๆ ทำให้เกิดโครงการที่ขยายต่อไป ให้โอกาสเด็ก ๆ ได้ไม่รู้จบ ในขณะที่เรื่องคุณภาพของการเรียนการสอนนั้นก็ได้มาตรฐาน สพฐ.สนับสนุนครูผู้สอนประจำในศูนย์การเรียนสำหรับเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล และ สวทช.สนับสนุนสื่อ และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
จึงเป็นเรื่องดีที่โครงการนี้กำลังขยายต่อไปอีกอย่างมั่นคง โดย 4 หน่วยงานจะร่วมมือกันวิจัยและพัฒนา ทั้งองค์ความรู้ วิธีการ สื่อ และ เผยแพร่แนวทางนี้ต่อไป
ข่าวประชาสัมพันธ์
หน่วยงาน 3 กระทรวง และมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ลงนามความร่วมมือด้านสุขภาพ การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเด็กพิการและเด็กป่วย
(24 ก.ค. 60) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการให้ความช่วยเหลือเด็กเจ็บป่วยและเด็กพิการในโรงพยาบาลแบบมีส่วนร่วม” เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อันเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2539 เพื่อส่งเสริมการใช้ไอทีในการเพิ่มคุณภาพชีวิตและโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้ด้อยโอกาส 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ (1) นักเรียนของโรงเรียนในชนบท (2) คนพิการ (3) เด็กป่วยในโรงพยาบาล และ (4) ผู้ต้องขังในทัณฑสถานและเยาวชนในสถานพินิจ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ วอรด์เด็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพราะทรงห่วงใยเด็กๆ ที่เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการของโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคกระดูก โรคไต ซึ่งมีจำนวนมาก จึงมีพระราชดำริในการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยแบ่งเบาภาระของครู ให้เด็กสามารถศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจากสื่อการเรียนการสอน และไม่เกิดความเบื่อหน่าย จึงเกิดเป็น “ศูนย์คอมพิวเตอร์เพื่อเด็กป่วย” ขึ้น เมื่อปี 2538 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และปี 2540 ได้ขยายโครงการออกไปยังโรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ต่อมากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เล็งเห็นประโยชน์จึงขยายโครงการไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค จนปัจจุบันมีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการแล้ว 40 แห่งใน 36 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนครูผู้สอนประจำในศูนย์การเรียนสำหรับเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สนับสนุนสื่อ และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ด้าน ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ได้ร่วมสนับสนุนการดำเนินการของโครงการ โดยสนับสนุนสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ และองค์ความรู้ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนสำหรับเด็กป่วยในโรงพยาบาล และเด็กพิการ เช่น ชุดซอฟต์แวร์ช่วยการเขียนสำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ ซึ่งห้องเรียนสำหรับเด็กป่วยของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่นำโปรแกรมดังกล่าวมาทดลองใช้ ทั้งกับเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังที่มาพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ จน สวทช. นำผลการใช้งานมาพัฒนาโปรแกรมดังกล่าวให้สามารถนำไปใช้ได้ในวงกว้าง
หรือ e-Learning ของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (eDLTV) ซึ่งเด็กป่วยในโรงพยาบาลมีความหลากหลายทั้งช่วงชั้นและอายุ ตลอดจนครูที่มีจำนวนน้อย สวทช. จึงสนับสนุนให้โรงพยาบาลนำ eDLTV ไปใช้ เพื่อให้เด็กป่วยในโรงพยาบาลสามารถศึกษาค้นคว้าตามช่วงชั้นและความสนใจของตนเองได้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดภาระของครูผู้สอนในโรงพยาบาลได้
รวมถึงยังสนับสนุนองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพและทัศนคติที่ดีต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของครูผู้สอนในโรงพยาบาล โดยจัดอบรมครูในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล เช่น การอบรมเกี่ยวกับการนำอุปกรณ์เคลื่อนที่ (แท็บเล็ต) ไปใช้ในการสร้างสื่อสำหรับการสอน การอบรมวิธีการนำ eDLTV และสื่อมัลติมีเดียไปใช้ในการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งอบรมการนำ Mobile Education Kit ไปใช้เพื่อให้สามารถนำอุปกรณ์เคลื่อนที่ไปสอนเด็กป่วยที่อยู่ในหอผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
ทั้งนี้ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการแพทย์ สพฐ. สวทช. และมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะร่วมกันดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเด็กเจ็บป่วยและเด็กพิการในโรงพยาบาลในรูปแบบต่างๆ พร้อมร่วมกันพัฒนาบุคลากร สื่ออุปกรณ์เทคโนโลยี และให้ความช่วยเหลือเด็กเจ็บป่วยและเด็กพิการในโรงพยาบาลในด้านการแพทย์ การศึกษา และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนเผยแพร่ความรู้แก่ผู้ปกครองของเด็กเจ็บป่วยและเด็กพิการในโรงพยาบาล และผู้ที่สนใจของทุกฝ่าย เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนต่อไป