ยาขม แก้ ล้มเหลว : Steve Jobs กอบกู้ Apple อย่างไร ?

ในช่วงปลายปีที่หลายคน หลายหน่วยงาน หลายองค์กร กำลังคิดทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าความรู้สึกจะผสมปนเปไประหว่างคำว่า “สำเร็จ” และ “ล้มเหลว”

ความสำเร็จ กับ ความล้มเหลว มีโอกาสเกิดขึ้นพอ ๆ กัน นอกจากขึ้นอยู่กับสิ่งที่แต่ละคนลงมือทำ หรือลงมือหว่านแล้ว ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้อีกมากมาย

ดังนั้น “การเริ่มต้นใหม่” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะไร้เหตุผล สำหรับคนที่ยังอยากจะประสบความสำเร็จอยู่

Steve Jobs เป็นบุคคลหนึ่งซึ่งผ่านจุดที่สำเร็จ ล้มเหลว สำเร็จ ล้มเหลว สลับไปสลับมาหลายต่อหลายหน จนวันหนึ่งเขาตกผลึกกับสัจธรรมข้อนี้ ว่า “ความล้มเหลว” เป็น “ยาขมขนานเยี่ยม” อันทำให้ชีวิตของเขาได้พบกับ “ยาชุดแห่งความสำเร็จ” ตามมา

ผมเคยเขียนเรื่องราวบอกเล่าเหตุการณ์สำคัญ ที่เป็นเหมือนบานพับประวัติศาสตร์ หัวเลี้ยวหัวต่อเชื่อมความล้มเหลวที่สุดและความสำเร็จที่สุดของบริษัท Apple เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเกือบ 20 ปีมาแล้ว และนับวันยิ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่หนักแน่นพอสำหรับการเรียนรู้ของคนยุคนี้

ในบทความที่คุณจะได้อ่านต่อไปนี้ บรรจุมุมมองของคนที่กำลังจะล้มเหลว คนที่ต้องแบกรับการแก้ปัญหา คนที่ไม่ยอมแพ้หรือหมดหวัง คนที่ต้องสะสางปัญหาเละเทะมากมายในองค์กรขนาดใหญ่ รวมทั้ง 5 ขั้นตอนสำคัญ ที่เป็นเหมือนขั้นตอนการพลิกโฉมความล้มเหลวให้กลายเป็นความสำเร็จได้

ผมอยากให้บทความนี้จุดประกายความหวัง จุดประกายไอเดีย ให้หลาย ๆ คนที่กำลังรับภาระอันหนักอึ้ง

มาสร้างประวัติศาสตร์แบบนี้ให้คนรุ่นต่อไปได้เห็นด้วยกันครับ

-*-*-*-*-*-*-*-*-

apple_jobs_returns

APPLE JUiCE : a ลุก likes JOBS (by @yoware)

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่
http://www.siampod.com/2013/10/08/apple-juice-8-oct-2013/

6 สิงหาคม 1997 บนเวทีงาน MacWorld Boston ในช่วงอีกขวบปีที่กิจการของ Apple ยังตกต่ำลงต่อเนื่อง บรรดาแฟนประจำที่ไม่ย่อท้อในการติดตาม กลับมานั่งรอฟังบรรยายดี ๆ จากคนจัดงาน โดยไม่มีใครคาดคิดว่า ผู้ที่จะขึ้นมากล่าวสุนทรพจน์ครั้งนั้น คือบุคคลที่ลาจาก Apple ไปนานร่วม 10 ปี

“ไม่มีใครจะรู้จัก Apple ดีไปกว่าเขาคนนี้ ขอเชิญทุกท่านพบกับ Steve Jobs” Colin Crawford ประธานและ CEO ของ Mac Publications กล่าว

เสียงตบมือกึกก้องต้อนรับอดีตผู้ก่อตั้ง Apple ที่ยังดูหนุ่มแน่นในวัย 42 ปี ช่วงเวลาที่ผ่านมา เขาจากที่นี่ไปอย่างขมขื่น การถูกตะเพิดจากบริษัทที่ตัวเองก่อตั้งเป็นความเจ็บปวดเกินกว่าจะคาดคิด แต่การได้รับเชิญให้กลับมายืนบนเวทีนี้อีกครั้ง พร้อมกับเสียงต้อนรับที่อบอุ่นจาก end user ก็เป็นความสุขใจปนสะใจที่แสดงออกมาทางมุมปาก

STATUS REPORT

เขาแนะนำตัวในฐานะประธานและ CEO ของบริษัท Pixar ซึ่งในปีนั้นกำลังโด่งดังกับภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องแรกของโลก Toy Story ที่โกยเงินมหาศาล อีกมือหนึ่งเขายังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท NeXT คอมพิวเตอร์สีดำ และผลผลิตความฝันที่เขาหอบหิ้วหันหลังออกมาจาก Apple

เวลานั้นความเศร้าโศกยามล้มเหลวจะอยู่กับคุณเท่าที่คุณต้องการ คุณเป็นนายของมัน และ Steve Jobs ก็คงเห็นเช่นนั้น เขาจึงสลัดทิ้งความทุกข์หนัก ยืนขึ้น ก้าวเท้า และลงมือทำความฝันของเขาอีกครั้ง แม้เขาจะไม่ได้เดินบนถนนที่เขาตัดกรุยไว้ แต่เขายังมีสายตา สมอง และแรงบันดาลใจติดตัวเป็นเครื่องมือกรุยทางใหม่ได้ทุกเมื่อ

เงยหน้า-เปิดตา-ยอมรับความจริง

“ช่วงที่ผ่านมา ผมเข้ามาเป็นหนึ่งในทีมที่ช่วยให้ Apple กลับมามีสุขภาพที่ดีอีกครั้ง” Steve Jobs เปิดด้วยการแนะนำภารกิจในฐานะคนนอกบริษัทที่กลับมาเป็นที่ปรึกษา “ว่ากันว่า Apple เดินผิดจุด ไร้น้ำยาไม่สามารถทำอะไรได้ และมีวัฒนธรรมที่สับสนอนาธิปไตย ใครก็จัดการไม่ได้”

สามประเด็นที่ Steve Jobs คัดเลือกมาจากคำวิจารณ์ของสื่อ ว่าเป็นสาเหตุทำให้ Apple อาการหนักเจียนตาย “แท้จริงแล้ว มันตรงข้ามหมด ผมพบว่า Apple ตรงประเด็นอย่างมากในตลาดที่เรายืนอยู่” เขาเริ่มแก้ความเข้าใจผิดด้วยการมองมุมใหม่

“ที่จริง Apple ทำได้อย่างยอดเยี่ยม แต่เป็นการทำอย่างยอดเยี่ยมในหลายสิ่งที่ผิดพลาด Apple มีคนที่ยอดเยี่ยมมากมาย แต่ที่เขาทำผิดพลาดเพราะแผนงานมันผิดพลาด ส่วนที่ว่าเต็มไปด้วยความสับสน สั่งไม่ได้นั้น ผมพบว่า คนที่นั่นพร้อมเสมอที่จะเดินตาม ถ้ามีกลยุทธ์ที่ดีต่างหาก”

บริบท-ระบบ-คน สามอย่างที่ Steve Jobs พูดแก้เปลี่ยนความรู้สึกให้ทั้งคน Apple และลูกค้า เหลือเพียงแต่รอการพิสูจน์ว่าเป็นจริงดังอ้างหรือไม่

ถ้า Steve Jobs ย่อท้อ คงจะไม่การกลับมาในครั้งนี้ ถ้าเขาไม่ยอมรับความจริง ก็คงจะไม่มีวันได้เห็นข้อบกพร่องที่ต้องเร่งแก้เพื่อกู้เรือที่จมไปแล้วกว่าครึ่งลำ

18mo67p7iu83qjpg

“ปัญหาคืออะไร ?”

เขาตั้งคำถามและตอบว่า อาการ “ป่วย” ที่เห็นได้ชัดที่สุดของ Apple คือ รายได้ผลประกอบการที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถึงเวลาแล้วที่จะต้องหวนกลับมาดูว่า ความผิดปกติเหล่านี้ มีที่มาจากอะไร และจัดการ “เยียวยา” มันอย่างถูกต้อง

จัดยา

Steve Jobs จัดยา 5 ขนาน ให้กับบริษัท Apple ที่กำลังจะล่มจม :

Board of Directors : เขาบอกว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่จะแก้ปัญหานี้จากคนทำงานแถวล่าง ควรมองไปที่หัว ซึ่งเป็นผู้นำทั้งหมด ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ Apple ดีขึ้น จะต้องเริ่มจากคณะกรรมการที่เหมาะสม ในครั้งนี้เขาเปิดตัวกรรมการใหม่ 4 คน ซึ่งรวมตัวเขาเองด้วย ท่ามกลางเสียงตบมือทั้งต้อนรับ และตบไล่หลังกรรมการเดิมบางคนที่ยอมลาออกไป

Focus on Relevance : จดจ่อจ้องมองในสิ่งที่เกี่ยวข้องจริง ๆ อย่าทำอะไรมากมายเลอะเทอะ จนทำให้สูญเสียความชัดเจนในภารกิจหลัก เขาพบว่า Apple มีลูกค้าใหญ่ในกลุ่มนักสร้างสรรค์มืออาชีพ โฆษณา ออกแบบกราฟิก และงานสิ่งพิมพ์ รวมทั้งแวดวงการศึกษาซึ่ง Apple ครองตลาดส่วนแบ่งขนาดใหญ่ จึงจะมุ่งสนองตลาดเหล่านี้มากขึ้น

Invest in Core Assets : ทุ่มเทให้สินทรัพย์หลักที่มีอยู่ คือ ผู้ใช้งาน Apple กว่า 25 ล้านคนในขณะนั้น “ผมคิดว่าเรายังดูแลพวกคุณได้ไม่ดีเพียงพอ” ส่วนที่ Apple มีคือ แบรนด์ Apple ที่มีความแข็งแกร่ง และระบบปฏิบัติการ Mac OS ซึ่งที่ผ่านมาถูกมองข้ามไป

Meaningful Partnerships : เมื่อยืนขึ้นลำพังได้ยาก จำเป็นที่จะต้องยื่นมือหาคนที่ช่วยพยุงได้ ในครั้งนี้ Steve Jobs เปิดตัวพันธมิตรซึ่งเคยเป็นศัตรูหมายเลข 1 นั่นคือ Bill Gates จาก Microsoft ที่ยินดีเข้ามาลงทุนและจัดคนพัฒนาซอฟต์แวร์ยอดนิยมให้เครื่องแมค ท่ามกลางกระแสโห่อย่างรุนแรงของผู้ฟัง

New Product Paradigm : มองหานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ ในวันนั้นเขาไม่ได้บอกอะไรนัก แต่สิ่งที่เราเห็นคือการปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะด้วยดีไซน์ของ iMac การปฏิวัติวงการเพลงด้วยเครื่อง iPod การปฏิวัติวงการมือถือด้วย iPhone และการปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ (อีกครั้ง) ด้วย iPad ในอีกเพียง 16 ปีถัดมา

Steve_Jobs_Return_1996

ก้าวข้ามตัวเอง มองสิ่งที่เหนือกว่า

“ถึงเวลาแล้วที่ Apple จะลดให้ความสำคัญต่อการสู้รบกับ Microsoft แล้วกลับมาสู่นวัตกรรม ความสร้างสรรค์ และวิสัยทัศน์อย่างแท้จริง” Larry Ellison ผู้ก่อตั้ง Oracle หนึ่งในเพื่อนสนิทของ Steve Jobs กล่าวไว้เมื่อครั้งเข้ามารับตำแหน่งกรรมการชุดใหม่ของ Apple

เชื่อว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดสำหรับคนผยองอย่าง Steve Jobs แต่ท้ายสุด เขาก็รู้ว่าควรจัดลำดับความสำคัญอย่างไร “จากนี้ไป ไม่ใช่เวลาที่จะทำให้ Apple ชนะ และ Microsoft แพ้ แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเราเอง ถ้า Apple ทำได้ไม่ดี ก็เพราะเราเอง ไม่ใช่เพราะคนอื่น” เขากล่าว

การตัดสินใจ

“ยาชุด” ที่ Steve Jobs จัดให้กับ Apple เป็นชุดเดียวกับที่เขาเคยจัดให้กับตัวเองมาแล้ว หลังจำต้องลา Apple เขาเริ่มต้นจากการมองเห็นปัญหาของตัวเองให้ชัด แก้ไขแล้วมุ่งไปที่วิสัยทัศน์ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้า เขาทุ่มเทหมดหน้าตักกับบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ เขามองหาคนข้างกายที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน ซึ่งจะร่วมกันทำฝันให้สำเร็จได้ พร้อมทั้งออกผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน

เขานำยาชุดเดียวกันนี้มาจ่ายซ้ำให้ Apple และมันก็เห็นผลจริง ๆ ว่า สุขภาพของ Apple ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นบริษัทที่หลายคนอยากเดินตามไปให้ถึง

image1

——————-

เรื่องราวทั้งหมด ถ่ายทอดสรุปใจความมาจากความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังได้ดูเหตุการณ์เมื่อปี 1997 กับคลิปที่หลายคนเรียกมันว่า “Return of Steve Jobs” นอกจากจะเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การจับมือกับ Bill Gates แล้ว ยังเป็นการเปิดตัวแคมเปญ “Think Different”

ชมคลิปภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในวันนั้นได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=PEHNrqPkefI

https://www.youtube.com/watch?v=PEHNrqPkefI

“ล้มเหลว” อาจเป็นช่วงจังหวะชีวิตที่ไม่มีใครปรารถนา แต่ถ้าคุณ “ลุก” ฝ่าผ่านมาได้ คุณจะได้อยู่ในจุดที่ใกล้เส้นชัยกว่าเดิม กับร่างกายแข็งแกร่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมา

——————

Steve Jobs กลับมาเป็น ซีอีโอรักษาการ หรือ iCEO ของ Apple เมื่อวันที่ 17 กันยายน 1997 อีก 8 ปี ถัดไป ในปี 2005 เขากล่าวที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดว่า การถูกให้ออกจาก Apple เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตเขา ทำให้เขาได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

“The heaviness of being successful was replaced by the lightness of being a beginner again, less sure about everything. It freed me to enter one of the most creative periods of my life.”

“I’m pretty sure none of this would have happened if I hadn’t been fired from Apple. It was awful-tasting medicine, but I guess the patient needed it.

“มันเป็นยาขม แต่ผมว่าคนไข้ต้องใช้มัน”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.