[28 มิ.ย.2551] เพิ่งจะรู้ว่าสิงคโปร์… ตอน 4

Posted on Saturday 28 June 2008 at 21:21
เมื่อช่วงต้นเดือน ผมได้เดินทางไปประเทศสิงคโปร์
กับโครงการ JEP แลกเปลี่ยนนักข่าวสองประเทศ
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมไปสิงคโปร์…

เวลาเจอคนสิงคโปร์ พอเขารู้ว่าเราไม่ใช่คนร่วมชาติ
เขาจะถามว่า “มาสิงคโปร์กี่ครั้งแล้ว…?” “ครั้งแรกที่มาสิงคโปร์หรือเปล่า ?”
เป็นคำถามที่ดีนะครับ…ถือว่าเป็นอีกหนึ่งไอเดียเรื่องคำถาม
ที่เราน่าเอาไว้ถามชาวต่างชาติครับ เพิ่มเติมจากคำถามฮิต…
“ทอม ทอม…ยูมาจากไหน ?” “ทอม ทอม เมื่อคืนยูไปไหนมา ?”
การถามว่ามากี่ครั้งแล้ว กึ่ง ๆ ก็เป็นการเชิญชวนให้มาอีก..ว่าไหมครับ

สิ่งที่คนเคยมาสิงคโปร์มักจะรู้สึกเมื่อได้กลับมาอีกครั้ง
คือความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสภาพบ้านเมือง
ตึกอาคารใหม่ บรรยากาศใหม่ กิจกรรมเพื่อดูดเม็ดเงินนักท่องเที่ยวแบบใหม่ ๆ
แต่ที่ไม่ค่อยเปลี่ยนเลย คือ ตึกรามบ้านช่องที่อยู่อาศัย


========================================


คณะของเราได้เดินทางไปเยี่ยมหน่วยงานที่ชื่อว่า HDB
Housing & Development Board หรือเทียบได้ว่าเป็น การเคหะแห่งชาติ
ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่สำคัญมาก ๆ เพราะว่า
ประชาชนร้อยละ 81 อาศัยอยู่ในบ้านที่ HDB สร้าง
และขายหรือให้เช่าในราคาถูกมาก ๆ
ทำให้ประชาชน 9 ใน 10 มีบ้านเป็นของตัวเอง


สิงคโปร์มีพื้นที่ 699 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 3.6 ล้านคน
ความหนาแน่นประชากรเป็น 6,369 คนต่อตารางกิโลเมตร

เขาบอกว่า การที่ประชาชนมีบ้านเป็นของตนเอง
ทำให้ปัญหาสังคมอีกหลายอย่างบรรเทาไปด้วย

เห็นได้ชัดจากพื้นที่ไหนคนเช่าอยู่มาก ๆ
ชุมชนจะไม่เหนียวแน่นเท่ากับที่ที่คนซื้อบ้านอยู่


เมื่อรัฐบาลเข้าไปสร้างบ้านให้แล้ว
สิ่งที่จะต้องสร้างควบคู่กันทันทีนั่นคือ สภาชุมชน (Town Council)
ซึ่งสภาชุมชนจะทำหน้าที่ดูแลจัดการสิ่งที่เกิดขึ้นในย่านนั้น ๆ
ทั้งการเก็บค่าใช้จ่ายรายเดือน การจัดการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ


คนที่มีสิทธิ์ซื้อบ้านหรือแฟลตจาก HDB ต้องเป็นคนสิงคโปร์
อายุ 21 ปีขึ้นไป รายได้ครัวเรือนต่อเดือนไม่เกิน 8,000 ดอลลาร์สิงโปร์ (200,000 บาท)
และต้องไม่เคยเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยใด ๆ

นอกจากนี้ยังมีแฟลตที่ออกแบบสำหรับผู้สูงอายุ เกิน 55 ปีขึ้นไป
เรียกว่าเป็น Studio Apartment ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับบ้านครอบครัวและมีเพื่อน

ส่วนคนที่มีเงินไม่พอซื้อ ก็สามารถเช่าบ้านได้ในราคาถูกมาก
เพดานต่ำสุดคือ รายได้ครัวเรือนต่อเดือนไม่เกิน 800 ดอลลาร์สิงโปร์ (20,000 บาท)
เช่าห้อง 1 ห้องนอนได้ในราคาไม่เกินเดือนละ 26-33 ดอลลาร์สิงโปร์ (650-825 บาท)
ผมถือว่านี่เป็นการช่วยเหลือที่จริงแท้และจริงใจ
ในเมืองที่ค่าข้าวอย่างต่ำก็จานละ 2 ดอลลาร์สิงโปร์ (50 บาท)


หลายคนคงนึกถึงปัญหาแฟลตเก่าแก่ในบ้านเรา
ว่าจะเกิดปัญหาเช่นนั้นบ้างที่สิงคโปร์หรือไม่…
แต่เท่าที่ดูคงยังไม่เกิดแน่ครับ

แฟลตทุกหลังในสิงคโปร์ สร้างให้มีอายุอย่างน้อย 99 ปี
ส่วนแฟลตที่สภาพทรุดโทรมเก่าแก่ จะมีโครงการจากรัฐบาล
เรียกว่าโครงการ “อัพเกรด” ทั้งเปลี่ยนลิฟต์ใหม่ ทาสีตึก
เปลี่ยนท่อแก๊ส ไปจนถึงต่อเติมเพิ่มห้องใหม่อีกห้อง
รัฐบาลจะอุดหนุนประมาณร้อยละ 90
ส่วนที่เหลือจะให้ผู้อยู่อาศัยร่วมจ่ายด้วย
และในการอัพเกรดจะใช้เวลาให้คนเดือดร้อนไม่เกิน 10 วัน
นอกจากนี้ HDB ยังให้ความสำคัญกับการคิดค้นเทคโนโลยี
เพื่อการสร้างบ้านที่สร้างง่ายและอยู่ง่าย


ปัจจุบันรัฐบาลสิงคโปร์มีแฟลตในโครงการอยู่กว่า 9 แสนหน่วย
และยังอยู่ระหว่างการสร้างอีกหลายโครงการ
หลักของที่นี่คือ ถ้าคนมายื่นจองไม่ถึงร้อยละ 70 จะยังไม่เริ่มสร้าง
เมื่อจะสร้าง ต้องไปขอซื้อที่จากที่ดินของรัฐบาลในราคาท้องตลาด
นี่คือภาพจากตึกแฟลตรัฐบาลที่สูงที่สุด 40 ชั้นในขณะนี้
เราได้แวะไปเยี่ยมห้องหนึ่ง ซึ่งทางเขาคัดเลือกมาแล้วว่าอวดได้…




แต่ตึกที่กำลังสร้างอยู่ในย่านไชน่าทาวน์ขณะนี้
คือ Pinnacle@Duxton
เมื่อสร้างเสร็จจะกลายเป็นแฟลตรัฐบาลที่สูงที่สุด 50 ชั้น
และมีถึง 7 ตึก เชื่อมต่อกันด้วยสวนลอยฟ้าที่กลางและบนสุดของตึก
ซึ่งสถานที่สร้างตึกบนถนน Cantonment ยังเพื่อรำลึกถึงแฟลตแห่งแรก
ที่สร้างบนพื้นที่แห่งนี้อีกด้วย






========================================

อ่านแล้วเครียดไหมครับ เขียนเสียยาวเลย
แต่ก็เพื่ออยากให้เราได้รับรู้ว่า
การปฏิบัติต่อประชาชนของรัฐบาลเขาเป็นอย่างไร

แผ่นแบบจำลองอลังการนี้ตั้งอยู่ที่
ชั้นล่างตึก HDB ซึ่งเขาทำเป็นพิพิธภัณฑ์
วิวัฒนาการของที่อยู่อาศัยชาวสิงคโปร์ครับ
เชิญทัศนาภาพกันเพลิน ๆ นะครับ
แต่รู้สึกว่าคุ้น ๆ จริง ๆ เลย บ้านแบบนี้…












========================================

ใครเคยไปสิงคโปร์ แล้วเคยเงยหน้าดูตึกแฟลต
จะเห็นราวตากผ้าที่เป็นเอกลักษณ์อย่างนี้ใช่ไหมครับ


ผมได้คุยกับเจ้าหน้าที่ HDB เขาบอกว่า เป็นการตากผ้าดั้งเดิม
แต่สำหรับแฟลตบางแห่ง…การตากผ้าแบบนี้ผิดระเบียบแล้วนะครับ
เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบสวยงามต่อผู้พบเห็น


อย่างเช่นห้องนี้ไงครับ แล้วก็ห้องข้าง ๆ โน้น พาดออกมานอกหน้าต่าง
เข้าใจว่าจำเป็นต้องทำ เพราะราวตากผ้าที่เขาจัดให้มันไม่โดนแดดนี่นา


ภาพล่างนี่ทำถูกระเบียบ…


ภาพนี้เป็นภาพตึกที่อยู่อาศัยสามแบบของชาวสิงคโปร์ครับ
ตึกรุ่นใหม่ ตึก รุ่นเก่า และตึกเอกชน


========================================

ทีแรกว่าจะเล่าถึงเรื่อง การบล็อกเน็ตเชิงสัญลักษณ์
แต่รู้สึกว่าตอนนี้รบกวนเวลาท่านมาเยอะแล้วครับ
ขออนุญาตเอาไว้ต่อตอนหน้านะครับ…

ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ

========================================

tracker

nuy

Posted on Saturday 28 June 2008 at 22:22 by Anonymous
ชอบอ่านค่ะ สนุกดีได้ความรู้ด้วย

เกิดมาเพื่อสร้างสรรค์จริง ๆ

Posted on Thursday 3 July 2008 at 15:34 by ไข่มุกอันดามัน…
อ่านแล้วทำให้รู้ว่า…บ้านเมืองเค้าไปกันถึงไหน และเราอยู่ตรงไหน…55
ว่างไม่ได้ต้องเข้ามาอ่านตลอดเลย…ขนาดเจ้านายที่เป็นสิงคโปร์ยังชอบ เลยเค้าอยากรู้ว่าเราเรียนรู้อะไรจากบ้านเมืองของเค้า….5555 พี่แปลให้เค้าฟัง เฮกันจะตาย…

สร้างสรรค์ต่อไปนะน้อง พี่พร้อมสนับสนุนคนคิดดี ทำดีเสมอค่ะ….

หนุกดี

Posted on Saturday 5 July 2008 at 15:47 by Anonymous
yoyo
หนุกดี ถ่ายภาพเองเหรอ ไม่เหงมีโยอยู่ในภาพสักภาพ สงสัยว่าถ่ายเองแหง๋ๆ
รักษาสุขภาพด้วยนะ เดินทางบ่อยๆ
P’lulu

อิจฉาตาร้อน

Posted on Thursday 10 July 2008 at 17:20 by Anonymous
อิจฉาคนสิงคโปร์ อจฉาคนสิงคโปร์ ทำไมมีรัฐบาลและราชการดีอย่างงี้อ่ะ แล้วของเราหล่ะ ฮือ ฮือ ฮือ

ประทับใจ

Posted on Wednesday 24 September 2008 at 17:21 by Thara
เป็นนักข่าวที่สวมวิญญาณนักเขียนได้ดีมากๆ คุ้มค่ากับการเสียเวลาอ่าน ได้อะไรใหม่ๆ

อยากเห็นนักข่าวรุ่นใหม่ๆ แบบนี้เยอะๆ ครับ…

เพิ่งเข้ามาอ่านวันนี้เป็นครั้งแรก และคิดว่าจะติดตามผลงานไปเรื่อยๆ ครับ

เมืองหลวงตัวอย่างแท้ๆ

Posted on Thursday 15 January 2009 at 11:04 by กงจักร
แค่เจริญรอยตามสิงคโปร์ กทม. ก็น่าจะไปได้สวยแล้วเนาะ
หลายๆ เมืองอีกทั่วโลกก็น่าศึกษานะ …. แล้วบ้านเราล่ะ มีอะไรดีๆ ให้เขามาศึกษาเอาอย่างมั่งน้อนี่
ขอบคุณนะครับ พี่โยโย่

Untitled Comment

Posted on Tuesday 7 July 2009 at 21:26 by Anonymous
ชอบจัง รัฐบาลเขาคิดทุกอย่างไกล มองลึกซึ้ง ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตที่ดีแต่ละระดับ อยากให้คนที่มีอำนาจทั้งหลายที่ดูแลประเทศและกินภาษีราษฎรไทยแสดงฝีมือ ใช้กึ๋นให้เยอะๆๆๆๆ ขึ้นมากกว่านี้ บางทีอาจจะดีกว่านั่งทะเลาะกันแล้วก็ไปกันไม่ถึงไหนซะที… เขาไปถึงไหนกันแล้ว อีกหน่อยเถอะเวียดนามจะนำไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.