จับสัญญาณความพร้อม 5G ของค่ายมือถือหลักของไทย พร้อมทดสอบพิสูจน์ความเป็นไปได้หลัง กสทช.ประกาศให้เริ่มทดสอบ 5G กันตั้งแต่ปลายปี 2561
กระแส 5G ยังมีเป็นข่าวต่อเนื่องหลายวัน จนอดสงสัยกันไม่ได้ว่า “เมื่อไหร่คนไทยจะได้ใช้ 5G ?” แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นได้ มาฟังข้อมูลอีกด้านจากผู้กำกับดูแล และโดยเฉพาะผู้ให้บริการทุกค่ายซึ่งจะเป็นตัวจริงที่จะควักกระเป๋า คลุกฝุ่น ปีนเสา ขึ้นไปติดตั้งวางโครงสร้างพื้นฐาน 5G เมื่อถึงเวลาที่ได้รับไฟเขียวจาก กสทช.
หากท่านที่สนใจในเรื่องนี้ อาจจะจัดเวลาสักประมาณ 2 ชั่วโมง ฟังเสียงจากวิดีโอการถ่ายทอดสดของการสัมมนา “5G: จุดเปลี่ยน Landscape เศรษฐกิจ-การเมืองไทย” ซึ่งจัดโดย บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561
ภายในงานเปิดการสัมมนาโดย พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. และปาฐกถามุมมองของ กสทช.ต่อ 5G โดย ท่านเลขาธิการ กสทช. คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์
กสทช.เปิดข้อมูลที่น่าสนใจว่าคนไทยปรับตัวมาใช้ 3G 4G กันเร็วมาก ทันทีที่มีการประมูลและอนุญาตให้เปิดบริการ ทุกอย่างก็ขับเคลื่อนฉลุย เลขหมายการใช้งาน หรือ จำนวนซิมของคนไทยตอนนี้ ทะลุ 125 ล้านเลขหมาย หรือเฉลี่ยคนไทย 1 คน เกิดมาพร้อมซิม 2 เบอร์กันเลยทีเดียว ซึ่งในจำนวน 125 ล้านนี้ เกือบทั้งหมด 123.5 ล้านเบอร์ เป็น 3G+4G แล้ว ยังเหลือใช้งาน 2G อยู่อีก 1.5 ล้านเลขหมาย (ก็ถือว่าไม่น้อย)
คนไทยยังใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มมากกว่าเดิม รวมทั้งเสพเนื้อหาจาก YouTube เฉลี่ย 2.4 ชั่วโมงต่อวัน หรือแม้แต่ NETFLIX ก็ยังมีสมาชิกในไทยแล้ว 2.1 แสนราย
กสทช.มองว่าทันทีที่ 5G เกิดขึ้น จะเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ ได้แก่
- ภาคการผลิตใช้หุ่นยนต์ AI และ IoT กันมากขึ้น ทดแทนแรงงาน
- ห่วงโซ่อุปทานจะเปลี่ยนแปลง คนกลางและร้านค้าปลีกจะอยู่ยากขึ้น เพราะผู้ผลิตขายตรงให้ลูกค้าได้ง่าย
- เศรษฐกิจในยุคใหม่บนฐาน 5G อาจจะอธิบายไม่ได้ด้วยทฤษฎีเศรษฐกิจแบบเดิม สินค้าจัดสรรเจาะจงเพื่อบุคคลมากขึ้น
- ภาคธุรกิจตัวกลางประกอบธุรกิจถูกลดบทบาทและหายไปในที่สุด
- จะมีการต่อยอดและเกิดธุรกิจใหม่ตามเทคโนโลยีใหม่
ส่วนในด้านการเมือง กสทช.มองว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงจากฐานเทคโนโลยีให้เห็นชัด ๆ 2 ด้าน คือ
- การเลือกตั้ง ใช้เทคโนโลยีใหม่ยืนยันตัวตนและการลงคะแนน ประชาชนไม่ต้องกลับไปเลือกที่ภูมิลำเนา สถิติผู้ใช้สิทธิจะเพิ่มขึ้น
- การหาเสียงของพรรคการเมืองและผู้สมัครจะไม่ต้องผ่านคนกลาง หัวคะแนนจะลดบทบาทและความหมาย
ประเด็นสำคัญคือ กสทช.ได้ประกาศบนเวทีเปิดให้ค่ายมือถือเริ่มทดสอบ 5G กันได้ตั้งแต่ 22 พฤศจิกายน ถึง 15 ธันวาคม 2561 นี้เลย โดยจากข้อมูลระบุว่า AIS จะทดสอบ 5G ที่ห้างดิเอ็มโพเรียม ส่วน TrueMove H จะทดสอบที่ห้าง ดิเอ็มควอเทียร์ ขณะที่ dtac ยังไม่เปิดเผยข้อมูล
ในส่วนของค่ายมือถือรายใหญ่ที่กำลังจะได้ทดสอบ 5G นั้น แน่นอนว่าส่งสัญญาณความพร้อมด้านเทคโนโลยีและการให้บริการ เพราะ 5G นั้นมีศักยภาพอย่างยิ่งที่จะยกระดับการพัฒนาประเทศไทย ต่อยอดอุตสาหกรรมไปได้อีกมากมาย
คุณวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร จาก AIS นำเสนอถึงความเหนือกว่าของ 5G เมื่อเทียบกับ 4G ไม่ว่าจะเป็นความเร็วการรับส่งข้อมูลที่มากกว่าได้ถึง 100 เท่า การรองรับจำนวนคนที่มากกว่า ความหน่วงที่น้อยกว่า และงานที่เหมาะสมกับ 5G ที่สุดจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ส่วนผู้บริโภคนั้น 4G ก็ยังรับได้ และในความเป็นจริงแล้ว คลื่น 1800MHz ที่ใช้กับ 4G ก็ยังเหลืออยู่
ผู้บริหาร AIS ชี้ให้สังเกตว่า ประเทศที่กำลังเร่งให้เปิด 5G นั้น ต่างเป็นประเทศผู้ผลิตทั้งสิ้น ซึ่งต้องเร่งให้เปิดอยู่แล้วเพราะบางประเทศผลิตเทคโนโลยี อุปกรณ์ หรือเครื่องมือถือ แต่ประเทศไทยนั้น เราเป็นผู้ซื้อ ดังนั้นเราต้องลงทุนอย่างฉลาด แต่ไม่ว่าอย่างไร แพลตฟอร์มยังไงก็ต้องเกิดอยู่แล้ว แต่ภาคส่วนต่าง ๆ พร้อมกันเพียงใด
“ต้องกลับมาดูว่าอุตสาหกรรมมีความพร้อมในการโตไปด้วยกันไหม เพราะการทำธุรกิจแต่ละตัวต้องใช้เวลาทั้งสิ้น” คุณวีรวัฒน์กล่าวและยังย้ำทิ้งท้ายว่า “ทั้ง ๆ ที่ 4G ในปัจจุบันก็ยังตอบสนองผู้ใช้ในปัจจุบันได้ดี และยังไม่อิ่มตัวด้วย ยังโตได้เรื่อย ๆ 5G ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรม 4G ขับเคลื่อนโดยผู้บริโภค”
มาที่ TrueMove H กันบ้าง คุณวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ชี้ให้เห็นถึงมุมของการใช้ 5G ในอนาคต หลังจากเปิดให้บริการแล้ว จะช่วยต่อยอดยกระดับคุณภาพชีวิตและธุรกิจของประชาชน ไม่ว่าจะด้านสุขภาพ ความปลอดภัย ภาคอุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง และเกษตรกรรม
“เส้นทางจาก 4G ไป 5G จริง ๆ มีการพัฒนาพอสมควร ไม่ใช่ก้าวกระโดดครั้งใหญ่ แต่ยังมีการพัฒนาต่อเนื่องไปเป็น 4.5G หรือ 4.9G” คุณวิเชาวน์ พูดถึงรายละเอียดทางเทคโนโลยีว่า การเปลี่ยนผ่านจาก 4G ไป 5G นั้น มีเส้นทางการเตรียมการอยู่บ้างแล้ว เช่น เรื่อง 2T2R ก้าวสู่ 64T64R ในปัจจุบัน
คุณวิเชาวน์ บอกว่า IoT เป็น Future จริง ๆ ของธุรกิจโทรคมนาคม เพราะจะมีจำนวนอุปกรณ์ที่ต้องการเชื่อมต่อเข้าโครงข่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่ง IoT นั้นให้บริการได้ทั้ง 4G และ 5G ซึ่ง 5G ก็จะเป็นตัวที่ทำให้ IoT เติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งผู้ใช้หลักของ IoT นั้น ไม่ใช่ผู้บริโภคทั่วไป แต่เป็นอุตสาหกรรมต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความท้าทายสำคัญ คือ Business Case ยังไม่มีมากพอ, คลื่นความถี่ Spectrum ยังไม่มากพอ และ Regulation Policy ยังไม่เอื้อต่อการขับเคลื่อน 5G
“สมมติเมืองไทยเรา (คลื่น 3G) 10MHz ราคา 76,000 ล้านบาท ถ้า (5G ต้องใช้) 100MHz ต้องใช้เงินเท่าไหร่ ? 760,000 ล้านบาท ฝันไปเถอะ! ชาติหน้าก็ไม่เกิด สิ่งที่ผมกำลังพูดถึงคือ ทรูเราตั้งใจเต็มที่ มีการทดสอบเตรียมความพร้อมทุกอย่าง แต่ถ้าสภาพแวดล้อมการกำกับดูแล ต้นทุนคลื่นความถี่ กฎหมาย ยังไม่เอื้อ ก็ไม่เกิดหรอกครับ” คุณวิเชาวน์ทิ้งท้าย
คุณอเล็กซานดรา ไรซ์ CEO ของ DTAC ขึ้นเวที ย้ำว่า 5G กับ 4G เป็นคนละเรื่องกันเลย เทียบกับ 3G ไป 4G ผู้ให้บริการแค่อัปเกรด ทำงานร่วมกับผู้ผลิตอุปกรณ์ และผู้ใช้ทั่วไปก็ใช้กันอย่างมาก แต่ภาคธุรกิจยังใช้ 4G กันน้อยอยู่ ดังนั้น พอมาถึง 5G นั้นจำเป็นต้องอาศัยการใช้งานของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและการเตรียมการที่มากขึ้น จึงยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย การนำ 5G เข้ามาใช้นั้นต้องใช้แรงงานและค่าใช้จ่ายที่สูงมาก
ทาง DTAC ได้ยกตัวอย่างการเกษตรในยุค 5G ที่ทุกอุปกรณ์ทุกชิ้นส่วนตลอดเส้นทางตั้งแต่ฟาร์มไปยังผู้ซื้อ มีระบบสื่อสารไร้สายเชื่อมต่อและตรวจสอบได้ตลอดเวลาว่า ผลผลิตทางเกษตรเดินทางไปถึงไหนแล้ว หรือในทางกลับกัน ผลผลิตที่เพิ่งซื้อมา นั่นมาจากไหน เมื่อไหร่
อย่างไรก็ตาม DTAC ก็มีความพร้อมที่จะใช้ 5G เช่นเดียวกัน และยืนยันเช่นเดียวกับทุกค่ายว่า 5G จะช่วยพัฒนาประเทศไปได้อีกมากด้วย