AI กับ IoT เทคโนโลยีที่ขาดจากกันไม่ได้

สองสิ่งที่ได้ยินในยุคเดียวกัน บางคนคิดว่ามันคือสองสิ่งที่จะต้องชิงความเป็นที่หนึ่ง แต่ที่จริงแล้วทั้งสองต้องการกัน ชนิดขาดกันไม่ได้

ถ้าหากว่า AI คือ สมอง IoT ก็คือร่างกาย

ประโยคหนึ่งจากบทความของ Maciej Kranz (ผู้บริหารจาก Cisco ที่เขียนหนังสือขายดีชื่อ Building the Internet of Things) ในนิตยสาร EE Times (https://www.eetimes.com/author.asp?section_id=36&doc_id=1332818) ตอกย้ำความสำคัญของการประสานกันระหว่างทั้งสองสิ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดพลานุภาพในระดับที่จะครองโลกได้

AI หรือ artificial intelligence หรือ ภาษาไทยคือ ปัญญาประดิษฐ์ เป็นสิ่งที่อยู่ในใจนักวิทยาศาสตร์ นักเขียน และนักสร้างภาพยนตร์มาหลายทศวรรษ เรื่องราวไฮเทคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังที่สร้างจากนวนิยายเรื่อง i,Robot หรือหุ่นแสนรู้ในหนัง Star Wars ต่างก็โชว์ความสามารถที่ยกย่องให้ AI เป็นพระเอก แต่สิ่งที่ไม่มีใครนึกถึงคือ เทคโนโลยีสุดว้าวเหล่านั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า IoT หรือ Internet of Things (ภาษาไทยคงจะเป็นอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง”)

นิโคลา เทสลา นักวิทยาศาสตร์ยิ่งใหญ่ในยุค 1920 บอกว่า ในอนาคต (จากสมัยนั้น) โลกทั้งโลก จะแปลงผันเป็นสมองขนาดใหญ่ ถ้าจะให้มีสมองใหญ่ขนาดนั้นได้ระบบเส้นประสาทก็คงต้องเชื่อมต่อกันผสานแนบแน่น ไม่ต่างอะไรกับสมองของคนเรา

นั่นเป็นที่มาของประโยคข้างต้นถ้าหากว่า AI คือสมอง IoT ก็คือร่างกาย

สองสิ่งนี้ทำหน้าที่ผสานกันได้อย่างดีเยี่ยมในบทบาทของตนเอง หนึ่งในหน้าที่ของร่างกายคือการสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ผ่าน ประสาทสัมผัสทั้งหลาย ร่างกายจะรู้สึกร้อน รู้สึกหนาว รู้สึกหนัก รู้สึกว่าไกล ได้ยินว่าใกล้ ได้กลิ่นว่าหอม รับรสว่าอร่อย ร่างกายขยับพาเดิน หยิบ วิ่ง กลิ้ง เขียน ฯลฯ

ข้อมูลจากระบบประสาทสัมผัสบนร่างกายเหล่านี้ จะถูกส่งไปที่สมองเพื่อประมวลผลและสั่งการ ก่อนที่จะตัดสินใจทำบางสิ่งบางอย่าง อย่างชาญฉลาด

เช่นเดียวกัน อุปกรณ์ IoT ที่ทำงานผสานเชื่อมต่อกัน มีเซนเซอร์รับข้อมูลในด้านต่าง ๆ มีกล้อง มีไมโครโฟน ก็จะรวบรวมข้อมูลเหล่านั้น เข้าสู่การประมวลผล ซึ่งเป็นหน้าที่ของ AI นั่นเอง

network-782707_960_720

สิ่งที่ทำให้อุปกรณ์​ IoT มีคุณค่าสูงสุด : AI

Brendan O’Nrien นักเขียนเทคโนโลยีบอกเล่าในบล็อก Aria Systems (https://www.ariasystems.com/blog/iot-needs-artificial-intelligence-succeed/) ว่า งานหลักของ IoT ที่เรารู้จักกัน มีพื้นฐาน 5 ขั้น

1 Sense – ตรวจจับรับสัญญาณด้วยเซนเซอร์

2 Transmit – รับส่งข้อมูลกับเครือข่าย

3 Store – เก็บข้อมูล

4 Analyze – วิเคราะห์ข้อมูล

5 Act – ตัดสินใจดำเนินการบางอย่าง

ผลิตภัณฑ์ IoT ต่าง ๆ ที่จะมีคุณค่ามากพอจะซื้อ (หรือสร้างขึ้น) จะต้องแสดงให้เห็นคุณค่าในขั้นตอนสุดท้ายของพื้นฐาน คือ การ “Act” ที่ยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการอะไรบางอย่างทางกายภาพ (เช่น ส่งรถพยาบาลไปยังจุดเกิดเหตุได้โดยอัตโนมัติ) หรือ การดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร (เช่น ส่งข้อความเตือนคนขับรถว่าต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมัน)”

แต่การจะ Act ได้ถูกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับขั้นตอนก่อนหน้า คือการ Analyze ซึ่งเป็นหน้าที่ของ AI อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

communication-1439132_960_720

Machine Learning ทำให้สิ่งที่ทำลงไป มีค่ามากกว่าเดิม

AI อาจจะเป็นหนึ่งในคำไฮเทคที่โบราณที่สุด เป็นคำที่ยังไม่เป็นรูปธรรมในความรู้สึกของคนทั่ว ๆ ไป แต่ถ้าพูดถึง AI ในยุคนี้ หนึ่งในสิ่งที่ทั่วโลกกำลังจับตาและสนใจ คือคำว่า Machine Learning ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ AI นั่นเอง

Machine Learning คือ การเขียนโปรแกรมที่มอบความสามารถให้กับคอมพิวเตอร์ในการตรวจจับสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นในลักษณะของ รูปแบบวนซ้ำ หรือ pattern ก่อนที่จะนำการเรียนรู้ที่ได้มาวิเคราะห์และตัดสินใจต่อไป

และการตัดสินใจเหล่านี้เอง ที่ทำให้ AI หรือ IoT นั้น มีค่ามาก น้อย หรือ ไร้ค่า สำหรับผู้บริโภค

บอกเลยว่า สำหรับคนที่อยากจะเตรียมพร้อมสำหรับโลกแห่งการสร้างสรรค์ทางดิจิทัลในอนาคต คุณพลาดไม่ได้กับการทำความเข้าใจ เรียนรู้หลักการเหล่านี้

Google เพิ่งเปิดบทเรียนพิเศษ นำบทเรียนสอน Machine Learning มาให้เราได้เรียนกันฟรี ๆ ผ่านออนไลน์ สมควรแวะไปศึกษากันดูครับ

https://developers.google.com/machine-learning/crash-course/

 

คุณเป็น Reinventors รึเปล่า ?

IBM Consulting Blog เพิ่งนำเสนอบทความใหม่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (https://www.ibm.com/blogs/insights-on-business/gbs-strategy/ai-iot-smarter-business/) ค้นพบว่า ผู้บริหารในยุคใหม่กำลังมุ่งสู่การรื้อสร้างใหม่หรือ reinvent องค์กรด้วยการใช้ดิจิทัลยกเครื่องการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ ต่อเนื่องมาจากยุคที่ใช้นวัตกรรมในผลิตภัณฑ์และบริการ ที่กำลังผันผ่านไปสู่การสร้างประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมให้แก่ลูกค้า

และสิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงตอบตรงกันเป็นส่วนใหญ่ คือ IoT และ AI รับบทบาทสำคัญ

เขาจัดแบ่งคนเป็น 4 กลุ่ม ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และปฏิบัติจริงเกี่ยวกับ IoT และ AI

Linkedin-Article-Stats_Extra-01.png

พบว่า บุคคลกลุ่มที่เป็น Reinventor ซึ่งมีประมาณ​ 19% จะวางกลยุทธ์ วางแผน และ ลงมือปฏิบัติ โดยมีการนำ IoT มาปรับใช้ ภายใต้วิสัยทัศน์ Intelligent IoT

ในขณะที่กลุ่มที่เรียกว่า Tactician จะเน้นไปที่การใช้เซนเซอร์สารพัดกับงาน แต่มีแผนน้อย ทำให้แม้จะมีการนำ IoT มาใช้ แต่ไม่มีวิสัยทัศน์ในการผสาน AI และ Machine Learning แต่อย่างใด

กลุ่มต่อมาคือ Aspirational คือ รู้เข้าใจ และมีความปรารถนาอันแรงกล้า หากแต่ว่าประสบปัญหาในการลงมือทำ ดังนั้น การใช้ IoT จริง ๆ จะน้อย แม้จะมีวิสัยทัศน์อยู่พอสมควร

และกลุ่มสุดท้าย คือ Observer นักสังเกต นั่งดูขอบสังเวียนอย่างเดียว ไม่ใช่ IoT และ ไม่สนใจวิสัยทัศน์ใด ๆ ของ AI กลุ่มนี้มีมากถึง 38%

Linkedin-Article-Stats_Extra-02-1.png

แน่นอนว่าโอกาสแห่งความสำเร็จระยะยาวจะอยู่กับ Reinventor ซึ่งนักรื้อสร้างใหม่เหล่านี้ จำนวน 2 ใน 3 ต่างเห็นด้วยว่า ศักยภาพสูงสุดของ IoT จะผงาดขึ้นก็ต่อเมื่อได้หยิบ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งด้วยเท่านั้น

ถึงเวลามองภาพกว้างร่างภาพไกล

ไม่ว่าคุณจะเป็นบุคคลในระดับใด อายุเท่าไหร่ ทำอาชีพอะไรอยู่ ขอให้ตระหนักและทราบไว้ว่า โลกอนาคตทุกสิ่งจะวิ่งไปมาอยู่บนรางที่มองไม่เห็นของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่เราได้สร้างและวางไว้อย่างยอดเยี่ยมในปัจจุบัน

IoT ที่หลายคนเข้าถึงในปัจจุบัน อาจจะเป็นแค่หุ่นยนต์ตัวเล็ก ๆ หรือ ปลั๊กไฟที่สั่งงานด้วยมือถือ แต่โปรดทราบไว้ว่า นั่นถือเป็นก้าวแรกที่คุณจะเริ่มต้นกับ AI และ IoT ได้แล้ว

IMG_5074

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนส่วนใหญ่ และไม่สายเกินไปที่จะลุกขึ้นมาคิดพิจารณากัน ว่ามีโอกาสอะไรรอเราอยู่ หรือสิ่งเหล่านี้จะสร้างโอกาสอะไรใหม่ ๆ ในชีวิตของเราได้

และที่สำคัญ อย่าแค่วาดฝัน ต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้! ทันที!

สมอง AI ขาดอุปกรณ์ IoT ไม่ได้ และอุปกรณ์ IoT จะกลายเป็นแค่เครื่องจักร (หรือของเล่น) หากไร้ซึ่งปัญญา แม้จะเป็นปัญญาประดิษฐ์ก็ตาม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.