หนึ่งในสถานที่ซึ่งจะทำให้วันว่างของคุณมีอะไรที่นับได้ นั่นคือ มิวเซียมสยาม สถานที่จัดแสดงนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ที่สะท้อนประมวลความเป็นไทยให้คนไทยและชาวต่างชาติได้รู้จักได้เป็นอย่างดี
ล่าสุดมีการเปิดตัวนิทรรศการใหม่อีก 14 ห้อง ในชุด “ถอดรหัสไทย” อ่านดูชื่อห้อง ก็น่าสนใจและสงสัยว่า จะประมวลความเป็นไทยออกมาได้ค่อนข้างจะจริง
- ห้องไทยรึเปล่า?
- ห้องไทยแปลไทย
- ห้องไทยตั้งแต่เกิด
- ไทยสถาบัน
- ห้องไทยอลังการ
- ห้องไทยแค่ไหน
- ห้องไทย Only
- ห้องไทย Inter
- ห้องไทยวิทยา
- ห้องไทยชิม
- ห้องไทยดีโคตร
- ห้องเชื่อ
- ไทยประเพณี
- ไทยแชะ
“นิทรรศการถาวรชุด “ถอดรหัสไทย” เป็นนิทรรศการที่พาไปค้นหาความหมายที่แท้จริงของความเป็นไทย ผ่านการเล่าเรื่องราวความเป็นไทยในมิติต่าง ๆ” นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าว
ชมภาพชุดบางส่วนได้จากสไลด์โชว์นี้ครับ
นิทรรศการนี้เปิดแล้ว อ่านรายละเอียดด้านล่าง หรือ เข้าไปที่ www.museumsiam.org
ข่าวประชาสัมพันธ์
“มิวเซียมสยาม” เปิดตัว “ถอดรหัสไทย” นิทรรศการโฉมใหม่ พร้อมไฮไลท์ 14 โซนแห่งความสนุก พร้อมตั้งเป้าผู้เข้าชม ปี 61 กว่า 5 แสนคน
- “มิวเซียมสยาม” ชวนเที่ยว นิทรรศการโฉมใหม่ เริ่มแล้ว ตั้งแต่ 2 ธันวาฯ นี้
กรุงเทพฯ 1 ธันวาคม 2560 – มิวเซียมสยาม เปิดตัวนิทรรศการถาวรชุดใหม่ ในชื่อ “ถอดรหัสไทย” นำเสนอภายใน 14 ห้องนิทรรศการ ที่จะพาไปเรียนรู้ทุกมุมมองความเป็นไทย และพัฒนาการความเป็นไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิ เรื่องราวด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณี อาหารการกิน การแต่งกาย เป็นต้น โดย “ถอดรหัสไทย” ผ่านเทคโนโลยีและวิธีการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่ เข้ากับยุคสมัย และตอบรับกับพฤติกรรมการบริโภคสื่อของประชาชนมากขึ้น ชวนให้ผู้เข้าชมคิดต่อยอด ตลอดจนเน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าชมยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกสนุกและสามารถติดตามเนื้อหาได้ตั้งแต่ต้นจนจบ
นิทรรศการถาวรชุด “ถอดรหัสไทย” เปิดให้เข้าชมแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เวลา 10.00 – 18.00 น. วันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดทำการทุกวันจันทร์) ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน (ข้างวัดโพธิ์) กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 หรือเข้าไปที่ www.museumsiam.org สำหรับหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษา ที่มีความประสงค์จะนำนักเรียน นักศึกษา เข้าชมนิทรรศการเป็นหมู่คณะ สามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 ต่อ 411
นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า มิวเซียมสยาม ได้ทำการปิดให้เข้าชมนิทรรศการถาวรชุดเก่า ตั้งแต่ต้นปี 2559 เพื่อดำเนินจัดทำนิทรรศการถาวรชุด “ถอดรหัสไทย” ซึ่งใช้เวลาดำเนินการกว่า 18 เดือน โดยมิวเซียมสยามนำข้อมูลสถิติผู้เข้าชม ทั้งด้านประชากรศาสตร์ ความคิดเห็นที่มีต่อนิทรรศการ ตลอดจนวิจัยพฤติกรรมการบริโภคสื่อของประชาชน มาประกอบการพัฒนาเนื้อหาภายในนิทรรศการ และออกแบบรูปแบบการสื่อสารผ่านสื่อพิพิธภัณฑ์ ให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากขึ้น “ถอดรหัสไทย” เป็นอีกนิทรรศการฝีมือคนไทย ที่จะลบภาพจำของการเที่ยวพิพิธภัณฑ์ที่น่าเบื่อ จำเจ แต่จะมอบทั้งความรู้ควบคู่กับความสนุกให้กับทุกคนยิ่งกว่าเดิม และจะเป็นอีกหนึ่งมิวเซียมเดสติเนชั่น ที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไม่ควรพลาด
ทั้งนี้ มิวเซียมสยามจัดทำ ออดิโอไกด์ (Audio Guide) 5 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย อังกฤษ เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น เพื่อรองรับผู้มีความบกพร่องทางด้านสายตา และชาวต่างชาติ และภายในนิทรรศการออกแบบให้เอื้อต่อผู้มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย ตลอดจนลิฟต์อำนวยความสะดวกอีกด้วย
นายปรามินทร์ กล่าวต่อว่า รายละเอียดของนิทรรศการ “ถอดรหัสไทย” ประกอบด้วย 14 ห้องนิทรรศการ ดังนี้
- ห้องไทยรึเปล่า? : นำเสนอประเด็นคำถาม โดยหยิบยกกรณีตัวอย่างปรากฏการณ์ “ความเป็นไทย” ที่เป็นข้อถกเถียงในสังคม อาทิ เลดี้กาก้าสวมชฎา ชุดประจำชาติมิสยูนิเวิร์ส นักแสดงหน้าฝรั่งเล่นละครไทย เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้าตั้งคำถามถึงความเป็นไทยรอบตัว ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ว่าแท้จริงแล้ว อะไรคือความเป็นไทย
- ห้องไทยแปลไทย : ห้องจัดแสดงที่เต็มไปด้วยตู้โชว์ ลิ้นชัก ที่ภายในบรรจุวัตถุจัดแสดง นำเสนอประเด็นสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทยในแต่ละยุคสมัย ให้ผู้เข้าชมมาเรียนรู้และค้นหา “ความเป็นไทย” ในสิ่งของเหล่านั้นที่ส่งผลถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยในปัจจุบัน
- ห้องไทยตั้งแต่เกิด : โชว์การพัฒนาการความเป็นไทย ที่นำเสนอเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ และสิ่งแสดงความเป็นไทยในสมัยต่างๆ 9 ยุคสมัย ผ่านเทคโนโลยีโมดูลไฮดรอลิก เสียงบรรยาย และกราฟิก ที่ถูกนำมาใช้ในนิทรรศการครั้งแรกของไทย
- ไทยสถาบัน : นำเสนอแก่นแนวคิดเรื่อง ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ 3 สถาบันหลัก ที่สะท้อนรูปแบบการแสดงออกของความเป็นไทย ผ่านเทคโนโลยีเออาร์ ออกแบบคล้ายเกมส์จิ๊กซอว์ ที่ผู้ชมสามารถประกอบคิวบิกบนโต๊ะกลางห้อง และภาพจำซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็น ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จะปรากฏขึ้นบนจอแสดงผล
- ห้องไทยอลังการ : ภายในจำลองบรรยากาศของท้องพระโรงและพระที่นั่ง เพื่อแสดงถึงสุนทรียะ ความงดงามของสถาปัตยกรรมอันสูงค่า และงานประณีตศิลป์ รวมถึงสะท้อนความหมาย ความศรัทธา คติฮินดู และความเชื่อพุทธศาสนา ที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ อันเป็นศูนย์กลางของประชาชน
- ห้องไทยแค่ไหน : นำเสนอความเป็นไทยผ่านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย จัดแสดงด้วยหุ่นเสื้อผ้าที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทยในรูปแบบต่างๆ วางกระจายอยู่บนฐานเกลียวก้นหอย โดยมีชุดโขนเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อแสดงถึงสถานะและลำดับความเข้มข้นของความเป็นไทย
- ห้องไทย Only : ห้องที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ที่เราเห็นกันอย่างคุ้นตาในชีวิตประจำวัน ที่เห็นแล้วสามารถบอกได้ทันทีว่าเป็นของไทยแน่นอน อาทิ พวงเครื่องปรุง ถุงหิ้วกาแฟผูกหนังยาง โครเชต์หุ้มหูกระเป๋าแบรนด์เนม มาม่าสารพัดรส รวมถึงไฮไลท์เด็ด คุณเอิบทรัพย์ หุ่นนางกวักยักษ์สูงกว่า 4 เมตร เป็นต้น ซึ่งสะท้อนบุคลิกภาพความเป็นคนไทยช่างประดิษฐ์ ปรับปรุง เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต ให้สะดวกสบาย และเหมาะสมกับสถานการณ์
- ห้องไทย Inter : นำเสนอประเด็นมุมมองความเป็นไทยของสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างกันในสายตาชาวไทยกับชาวต่างประเทศ อาทิ เรือสุพรรณหงส์คู่กับเรือหางยาว ผลไม้แกะสลักคู่กับผลไม้รถเข็น สำรับอาหารชาววังคู่กับอาหารไทยริมทางเท้า สะท้อนมุมมองความเป็นไทย ที่ต้องการให้คนอื่นเห็น กับ สิ่งที่คนอื่นคิดว่าเราเป็น
- ห้องไทยวิทยา : ภายในจำลองบรรยากาศห้องเรียน 4 ยุคสมัย ได้แก่ ยุคเริ่มต้นประชาธิปไตย ความเป็นไทยยุค 2500 ความเป็นไทยยุคโลกาภิวัตน์ และความเป็นไทยยุคพอเพียง ซึ่งสะท้อนถึงการปลูกฝังความเป็นชาติไทยผ่านบทเรียน โดยเนื้อหาแต่ละยุคจะมีทั้งเรื่องความแตกต่างทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่ถูกสอดแทรกไว้ผ่านการศึกษา แบบเรียน และบทเพลงแต่ละยุคสมัย
- ห้องไทยชิม : ห้องครัวมีชีวิต ที่พาคุณไปเรียนรู้ที่มาของอาหารไทยขึ้นชื่อต่างๆ อย่าง ต้มยำกุ้ง ส้มตำ ผัดไทย เป็นต้น โดยใช้เทคโนโลยีคิวอาร์สแกน พร้อมโมชันกราฟิกสีสันสวยงาม รวมถึงแผ่นพับรูปจาน ที่สอดแทรกเกร็ดความรู้อาหารเหล่านั้น บอร์ดกราฟิกชวนตั้งคำถามกับเมนูอาหารไทยที่มีชื่อต่างประเทศ อาทิ ขนมจีน ข้าวผัดอเมริกัน ขนมโตเกียว เป็นต้น
- ห้องไทยดีโคตร : นำเสนอพัฒนาการของความเป็นไทย ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอื่น อาทิ พระปรางค์วัดอรุณ ที่สุดของสถาปัตยกรรม ตัวอักษรไทย รถตุ๊กตุ๊ก เป็นต้น ผ่านรูปแบบการนำเสนอด้วยภาพ ซึ่งผู้ชมสามารถเข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น อาทิ เลเซอร์คัท 3 มิติ โซโทรป ฟลิปบุ๊ก เป็นต้น
- ห้องเชื่อ : ห้องที่รวบรวมวัตถุด้านความเชื่อของเมืองไทย กว่า 108 สิ่ง ครอบคลุมทั้งความเชื่อเรื่อง ผี พุทธศาสนา พราหมณ์และความเชื่อแบบไทยๆ ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิต พร้อมเวิร์กชอปความเชื่อให้ทดลองกันได้จริง อาทิ การทำนายโชคชะตา การเสี่ยงทายรูปแบบต่างๆ เป็นต้น
- ไทยประเพณี : ห้องจัดแสดงในรูปแบบโกดังเก็บของ นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ ประเพณี เทศกาล และมารยาท อันเป็นสิ่งสะท้อนความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน ใส่ไว้ในกล่อง ภายในมีเอกสารอธิบายที่มาที่ไปของเรื่องต่างๆ ภาพประกอบของจริงที่จับต้องได้ เล่นได้ และมีเกมที่จะทำให้เข้าใจเรื่องราวได้สนุกยิ่งขึ้น
- ไทยแชะ : สตูดิโอถ่ายภาพ นำเสนอประเด็นความสำคัญของ ภาพถ่าย เป็นหลักฐานที่บ่งบอกความเป็นไทยและทำให้เรารู้จักผู้คน และบ้านในยุคสมัยต่างๆ ได้ชัดเจนที่สุด โดยผู้ชมสามารถเลือกชุด เครื่องประดับ ฉาก และเครื่องประกอบฉาก สำหรับถ่ายภาพบันทึกความทรงจำไว้ได้ตามอัธยาศัย
นิทรรศการถาวรชุด “ถอดรหัสไทย” เปิดให้เข้าชมแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เวลา 10.00 – 18.00 น. วันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดทำการทุกวันจันทร์) ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน (ข้างวัดโพธิ์) กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 หรือเข้าไปที่ www.museumsiam.org สำหรับหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษา ที่มีความประสงค์จะนำนักเรียน นักศึกษา เข้าชมนิทรรศการเป็นหมู่คณะ สามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 ต่อ 411
นายราเมศ กล่าวต่อว่า นิทรรศการถาวรชุด “ถอดรหัสไทย” เป็นนิทรรศการที่พาไปค้นหาความหมายที่แท้จริงของความเป็นไทย ผ่านการเล่าเรื่องราวความเป็นไทยในมิติต่าง อาทิ ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณี อาหารการกิน การแต่งกาย เป็นต้น และพัฒนาการของความเป็นไทยที่เปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน โดยใช้วิธีการเล่าเรื่องราวพัฒนาการความเป็นไทย ผ่านสื่อพิพิธภัณฑ์ที่มีความปัจจุบันทันสมัย ใกล้ตัว และสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน ชวนให้นำไปคิดต่อยอด ย้อนผูกกับเรื่องราวในอดีต ตลอดจนรูปแบบของการนำเสนอที่เน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถนำตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับนิทรรศการได้ ซึ่งจะทำให้เข้าใจเนื้อหาง่ายขึ้น เปิดประสบการณ์การเที่ยวพิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่ ที่ได้ความรู้คู่ความสนุก ตลอดจนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการเล่าเรื่องให้ผู้ชมสามารถเข้าใจและติดตามเรื่องราวได้ง่ายมากขึ้น
นอกจากนี้ มิวเซียมสยามยังทำการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ พื้นที่รับรองผู้เข้าชม ลิฟต์อำนวยความสะดวก ห้องน้ำ และยังได้จัดทำระบบ ออดิโอไกด์ (Audio Guide) 5 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย อังกฤษ เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น เพื่อรองรับผู้มีความบกพร่องทางด้านสายตา และชาวต่างชาติ ภายในนิทรรศการยังถูกออกแบบให้เอื้อต่อผู้มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย ตลอดจนลิฟต์อำนวยความสะดวกอีกด้วย นอกจากนิทรรศการแล้ว ภายในมิวเซียมสยามยังมีห้องจำหน่ายของที่ระลึก MUSE SHOP ร้านอาหาร MUSE KITCHEN ร้านกาแฟ MUSE CAFÉ สำหรับบริการผู้เข้าชม โดยทั้งหมดพร้อมเปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นวันแรก ในวันที่ 2 ธันวาคม 2560 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าชมกว่า 30,000 คน ภายในสิ้นปี 2560 พร้อมตั้งเป้าผู้เข้าชมกว่า 5แสนคน ภายในปี 2561 นายราเมศ กล่าวสรุป
ด้านนายปรามินทร์ เครือทอง ที่ปรึกษาสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) และหัวหลักทีมพัฒนานิทรรศการ กล่าวว่า เนื่องด้วยข้อจำกัดของการจัดนิทรรศการ คือเนื้อหาและเทคโนโลยีที่ใช้ล้าสมัยไปตามเวลา รวมถึงรูปแบบการบริโภคสื่อที่เปลี่ยนไป โจทย์หลักในการทำนิทรรศการชุดใหม่ของมิวเซียมสยาม คือทำนิทรรศการอย่างไร ให้มีเนื้อหาเท่าทันสมัย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้เข้าชม จึงเป็นที่มาของ “ถอดรหัสไทย” นิทรรศการถาวร ที่สามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหาไปตามประเด็นที่เป็นที่พูดถึงในสังคม สามารถตัดทอนเนื้อหาเดิมบางส่วน เพิ่มเติมประเด็นที่น่าสนใจ ทำให้สามารถเรียนรู้เรื่องราว และพบเจอวัตถุจัดแสดงใหม่ๆ ได้ทุกครั้งที่คุณมาชมนิทรรศการ ตลอดจนการนำเสนอที่สอดรับกับยุคสมัยที่ผู้คนอ่านหนังสือน้อยลง มิวเซียมสยามจึงเปลี่ยนการนำเสนอในรูปแบบตัวหนังสือ บอร์ดนิทรรศการ ไปเป็นรูปแบบอื่นๆ อาทิ การสื่อสารด้วยภาพ เกมส์ เทคโนโลยีเออาร์ (Augmented Reality) เลเซอร์คัต 3 มิติ และไฮไลท์การนำเสนอด้วยเทคโนโลยีโมดูลไฮดรอลิกที่แรกในประเทศ เป็นต้น
นายปรามินทร์ กล่าวต่อว่า นิทรรศการ “ถอดรหัสไทย” เป็นนิทรรศการที่แตกต่างจากนิทรรศการอื่น ทั้งด้านของการพัฒนาเนื้อหา โดยใช้วิธีการเล่าเรื่องราวพัฒนาการความเป็นไทย ผ่านสื่อพิพิธภัณฑ์ที่มีความปัจจุบันทันสมัย ใกล้ตัว และสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน ชวนให้นำไปคิดต่อยอด ย้อนผูกกับเรื่องราวในอดีต ตลอดจนรูปแบบของการนำเสนอที่เน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถนำตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับนิทรรศการได้ ซึ่งจะทำให้เข้าใจเนื้อหาง่ายขึ้น เปิดประสบการณ์การเที่ยวพิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่ ที่ได้ความรู้คู่ความสนุก ตลอดจนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการเล่าเรื่องให้ผู้ชมสามารถเข้าใจและติดตามเรื่องราวได้ง่ายมากขึ้น