ไข่ เป็นสัญลักษณ์ที่ Twitter ใช้แสดงตัวสมาชิกใหม่ แต่จะทำอย่างไร ถ้ามันดันทำให้สมาชิกใหม่…ไม่ยอมโต
ต่อเนื่อง 7 ปีที่ผู้เพิ่งสมัครใช้ Twitter ซึ่งยังไม่ได้อัพรูปโปรไฟล์ จะได้ “ไข่” บนพื้นหลังหลากสี เป็นรูปโปรไฟล์เริ่มต้น แต่แล้ว Twitter ก็ตัดสินใจยุติโปรไฟล์ไข่ยอดนิยม ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการแสวงหารูปใหม่ที่กระตุ้นใจให้อัพโหลดรูปแสดงตัวตนของแต่ละคนให้เร็วที่สุด
3 เหตุผลที่ Twitter ตัดสินใจเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เริ่มต้น
- ปี 2016 Twitter เพิ่งปรับปรุงภาพลักษณ์ของแบรนด์ใหม่ โชว์ความหลากหลายสะท้อนการแสดงออกทางความคิดของผู้คนทั่วโลกซึ่งก่อเป็นชุมชนทวิตภพ
- พบว่าหลายคนไม่ยอมเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นรูปตัวเอง แต่เก็บรูปไข่เอาไว้ใช้ เพราะคิดว่ามันน่าสนุกและน่ารัก (ซะงั้น) ซึ่งไม่ตรงใจ Twitter ที่อยากให้ทุกคนแสดงตัวตน รูปโปรไฟล์ใหม่จึงเพิ่มความรู้สึกว่างเปล่ารอการเติมเต็มให้มากขึ้น
- บัญชี Twitter ของคนไม่ดีทั้งหลายส่วนใหญ่ ไม่มาเสียเวลากับการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ ภาพจำของรูปไข่จึงไปเชื่อมโยงกับพฤติกรรมด้านลบ ซึ่งไม่แฟร์กับผู้ใช้ใหม่ที่กำลังเรียนรู้และสร้างตัวตน
เริ่มกระบวนการค้นหารูปโปรไฟล์ที่เหมาะกว่า
ขั้นแรกทีมงาน Twitter มองย้อนกลับไปที่ปูมอดีตว่าเคยใช้รูปอะไรกันมาแล้วบ้าง ซึ่งรูปไข่นั้นก็เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2010 ด้วยเหตุผลที่อยากให้ดูสนุกและเป็นเอกลักษณ์
แต่ในรูปโปรไฟล์ใหม่ ทีมออกแบบตัดสินใจว่าจะใช้รูปที่ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นภาพโปรไฟล์ชั่วคราว ที่รอคอยให้เอาภาพจริงมาใส่ โดยวางคุณลักษณะไว้ ดังนี้
- Generic – ปกติธรรมดา
- Universal – เข้าใจทั่ว
- Serious – จริงจัง
- Unbranded – ไม่เชื่อมโยงกับแบรนด์
- Temporary – ดูชั่วคราว
- Inclusive – ไม่แบ่งแยกกลุ่มคน
ทีมออกแบบ Twitter นำไอเดียนี้มาสร้างภาพหลากหลาย ทั้งบุคคล ภาพถ่าย หรือแม้แต่ลวดลายแบบแผน แต่สุดท้ายก็เลือกใช้ความเป็นบุคคล แต่จะทำยังไงไม่ให้แบ่งเพศ
หัวกลม ๆ ในสัญลักษณ์ แม้ในป้ายห้องน้ำจะใช้เหมือนกัน ต่างกันที่ชุดเสื้อผ้า แต่หัวกลม ๆ ก็ยังดูเป็นชายอยู่ดี
สุดท้ายก็หาทางทำให้ดูเป็นกลางโดยปรับให้หัวไม่กลม ปรับไหล่ให้แคบลง ปรับความสูงลดลง จนได้ภาพที่ไม่บ่งบอกเพศที่สุด
เรื่องสีก็ต้องคิดกันมาก เลือกใช้สีเทาเพราะมันรู้สึกชั่วคราว ธรรมดา และเป็นสากล พร้อมทั้งทำให้มีความแตกต่างของเฉดเทาให้มากขึ้นเพื่อให้คนที่มีปัญหาการมองก็ยังพอมองออก และสีแบบนี้ก็ยังทำให้ไม่เป็นที่จับตามากนัก สำหรับคนที่ยังไม่ยอมเปลี่ยนรูปสักที
และนั่นคือที่มาของภาพธรรมดา ๆ ที่หลายคนมองข้าม ใครจะรู้ว่ามันผ่านขั้นตอนการคิดมามากขนาดไหน ?
ที่มา:
Twitter Blog – @Design : Rethinking our default profile photo
https://blog.twitter.com/2017/rethinking-our-default-profile-photo