[26 พ.ค.2552] เรื่อง “ยาว ๆ” ของเรื่อง “สั้น ๆ” : twitter.com

Posted on Tuesday 26 May 2009 at 07:07
สวัสดีครับ

ร้างลาไปนานจนบล็อกฝุ่นจับไปหมดแล้ว
ความจริงมีหลายเรื่องอยากเล่า
แต่ไม่มีโอกาสจรดปลายจวักทั้งสิบ
พิมพ์เรื่องโน้นนี้ให้อ่านฆ่าเวลากัน

ตั้งแต่เขียนบล็อกภายใต้ชื่อ “หลังข่าว” มาปีกว่า
ครั้งนี้ เพิ่งจะรู้สึกว่าเป็น “หลังข่าว” จริง ๆ
เพราะสิ่งที่กำลังจะเล่า เป็นเรื่องราวเบื้องหลัง
กว่าจะมาเป็นข่าว ที่ออกอากาศไปค่ำวันเสาร์ (23 พ.ค.52)

แต่ก่อนจะไปถึงข่าว
ผมขอพูดถึง “ส่วนเกิน” ก่อน

==========================================

บริการออนไลน์เดี๋ยวนี้มีหลากแบบหลายแนวคิด
บางอย่างดูแล้วต้องร้องอุทานออกมาว่า
“แม่เจ้าโว้ย คิดมาได้ยังไง”
และ Twitter .com ก็นับเป็นหนึ่งในบริการจำพวกนั้น
นอกจาก “แม่เจ้าโว้ย คิดมาได้ยังไง” แล้ว
ยังอุทานด้วยว่า “คิดมาทำไม” ด้วย

Twitter นิยามตัวเองว่าเป็น
การเขียนบล็อกกระจิริด หรือ micro-blogging
หมายถึงว่า บล็อกทั่ว ๆ ไปเขามีอะไร – เรามีน้อยกว่า

บล็อกทั่วไปเขียนกันแต่ละทียาวเฟื้อย (เหมือนบล็อกนี้)
แต่ทวิตเตอร์ให้เขียนแค่ไม่เกินครั้งละ 140 ตัวอักษร

หัวเรื่องที่เขียน ก็ไม่ต้องคิดมาก
ถ้าไม่รู้จะเขียนอะไร ก็ตอบคำถามเขาไป
“What are you doing?”
อย่างน้อยเราก็ต้องทำอะไรสักอย่างล่ะ
“อิ่ม” “หิว” “ง่วง” “ฟังเพลงปลุกใจ” “กรน” “เปล่า” ฯลฯ

ก่อนจะเขียน เราก็ต้องเข้าไปสมัครใช้บริการ
เลือก username ที่เราต้องการ
เช่น ของผมคือ yoware
เราก็จะได้ที่อยู่บล็อกเราเป็น twitter.com/yoware
และเริ่มเป็นพลเมือง Twitter-er เต็มขั้น

คนทวิตเตอร์เขาจะเรียกชื่อกันโดยมี @ นำหน้า
เช่น ถ้าจะเรียกผมก็ต้องใช้คำว่า  @yoware
น่าจะอ่านว่า “at-” นำหน้าเหมือนอีเมล์

กริยาการส่งข้อความออกไปจากทวิตเตอร์
เราเรียกว่า ทวีต (tweet) ตามศัพท์ที่เจ้าของเว็บเขาตั้งไว้

เราสามารถ Following  หรือ “ตามติด” คนที่เราสนใจ
ไม่ว่าเขา Update ข้อความอะไร
เราจะรู้สถานะของเขาด้วย
และในทางกลับกัน คนอื่นก็ “ติดตาม”
หรือเป็น Follower ของเราได้

คุ้น ๆ ไหมครับ ?
ความจริงแล้วก็เหมือนกับการอัพเดท  Status
ในโปรแกรมคุยอย่าง msn messenger

twitter.com/mcotภาพ : twitter.com/mcot

ผมคุยกับคุณศรีสุดา  (@sresuda)
ในรายการวิทยุ MCOT DOT NET (@mcot)
ว่าเจ้าทวิตเตอร์นี้เป็นเครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามา
ทำหน้าที่แทนเรื่องอะไร ส่วนไหนของชีวิต

อย่างอีเมล์ ก็มาแทนจดหมาย
เว็บบอร์ดก็แทนกระดานข่าว

ก็ลงความเห็นตรงกันว่า ทวิตเตอร์
ไม่ได้มาแทนอะไรหรือส่วนใดเลย
ดังนั้น จึงเรียกได้ว่าเป็น “ส่วนเกิน”

มันเหมือนสมัยที่เพจเจอร์ หรือ มือถือเข้ามา
เหมือนกับสมัยที่รองเท้าเข้ามาเป็นครั้งแรก
ทวิตเตอร์วันนี้ จึงเป็น “ส่วนเกิน” ที่กำลังจะเป็น “ส่วนหนึ่ง”
ของคนบนโลกออนไลน์ในไม่ช้า

จุดเด่นมากประการหนึ่ง
คือสิ่งที่เรียกว่า เอพีไอ (API)
ไม่ใช่บริษัทน้ำมัน
แต่เป็นระบบที่ทำให้เกิดท่อสำหรับเชื่อมโยงข้อมูล
จากเว็บหนึ่งหรือซอฟต์แวร์หนึ่ง
ไปใช้กับเว็บอื่น ซอฟต์แวร์อื่น หรือเครื่องมืออื่น ๆ ได้ง่าย ๆ

ทวิตเตอร์ก็มีเอพีไอ และเอพีไอทำให้เกิดโปรแกรมสำเร็จรูป
ที่ทำให้การเล่นหรือใช้งานทวิตเตอร์ ไม่จำกัดแค่บนหน้าเว็บเท่านั้น
รวมทั้งยังทำให้ใช้งานได้ผ่านมือถือด้วย

นอกจากนั้น ยังมีคนนำไปประยุกต์รวมกับบริการอื่น ๆ
เกิดเป็นบริการใหม่ ๆ เช่น
twitpic (โพสต์ภาพ)
twittermap.tv (บอกว่าใครทวีตจากมุมไหนของโลก)

คงสมควรแก่เวลาที่จะจบเรื่องทวิตเตอร์

====================================================

หลัง วันที่มีข่าวสลด เด็กฆ่าตัวตาย
โดยอาจเพราะการถูกหักดิบบังคับเลิกเล่นเกมเป็นสาเหตุ
ผมได้รับมอบหมายให้หากรณีตัวอย่างในเรื่องนี้

ผมนึกถึงทวิตเตอร์เป็นอันดับแรก
ก็ไม่ได้มั่นใจอะไร เพียงแต่อยากพิสูจน์
ว่าสิ่งที่เราเรียกว่า “ส่วนเกิน” นั้น
พอจะทำประโยชน์อะไรได้บ้าง

ผมเขียนข้อความขึ้นทวิตเตอร์ แบบหว่าน ๆ

และอีกแค่ 3 นาที ก็มีข้อความแรกตอบมา


ภาพ : twitter.com/sinnottragedy

น้องเตย (@SinNotTragedy) คนนี้
เข้ามาอยู่ในกลุ่มเพื่อนได้อย่างไร ?

ไปดูย้อนหลังจากอีเมล์ พบว่าน้องเตย  Follow @mcot มาก่อน
ในช่วงปลายเดือนเมษายน จากนั้นก็มา Follow  ผมในวันที่ 21 พฤษภาคม
ดังนั้น เมื่อผมแปะข้อความใหม่ น้องเตยก็จะเห็นข้อความที่ว่าด้วย
และทำการตอบกลับมาอย่างรวดเร็ว

จากนั้น ผมพยายามติดต่อกับเตย
เพื่อตรวจสอบว่าเป็นบุคคลมีตัวตนจริงหรือไม่
ทั้งค้นหาใน facebook  การตามไปดูเว็บบล็อก
และขอคุยรายละเอียดทางโทรศัพท์
เนื่องด้วยเป็นที่ทราบอยู่แล้วทางทวิตเตอร์
ว่าผมเองเป็นผู้สื่อข่าว มีตัวตนอยู่จริง
จึงเป็นเรื่องไม่ยากนักในการประสานงาน

กว่าการพูดคุยจะเกิดขึ้นจนแล้วเสร็จ
ก็ล่วงเลยมาถึงบ่าย
บก.ตัดสินใจส่งทีมข่าวในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี
ไปหาน้องเตยถึงบ้าน และไปหาแม่น้องเตยที่โรงเรียน
แทนที่จะเดินทางไปเอง
เพราะตั้งใจว่าจะให้ออกอากาศทันช่วงค่ำวันนั้น


ระหว่างรอภาพ
ผมก็ใช้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์
มาเขียนเป็นเรื่องเป็นราวก่อน
แล้วก็ไปอัดเสียง หรือ “ลงเสียง” ไว้
เตรียมพร้อมเมื่อภาพมาถึง
จะได้ส่งตัดต่อได้ทันที

แต่แล้วก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน
ระบบการส่งภาพมีปัญหาติดขัดกะทันหัน
ไม่สามารถส่งภาพมาได้ทัน
ทั้งที่พยายาม และ รอกระทั่งหมดเวลาข่าว

ตามปกติ บางข่าวถ้าไม่ทันแบบนี้
อาจถึงขั้นไม่ได้ออกอากาศ หรือเรียกว่า “ยก”
แต่ บก.ข่าวภาคค่ำวันรุ่งขึ้น
ตกลงใจให้ข่าวนี้ไปออกแทน

ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว
ผลจากทวิตเตอร์ ก็ออกมาเป็นเรื่องราว
ให้ข้อคิดกับหลาย ๆ คนได้สำเร็จ!

LINK : http://news.mcot.net/social/inside.php?value=bmlkPTMwNzYyJm50eXBlPWNsaXA=
หากอยากดูขั้นตอนการประสานงานของผมและน้องเตย
ลองค้นใน search.twitter.com ด้วยชื่อของเราสองคน
คือ yoware กับ sinnottragedy ครับ

หรือคลิกที่นี่ http://search.twitter.com/search?max_id=1917341504&page=3&q=yoware+sinnottragedy+

==============================

ผมพยายามนึกภาพเปรียบเทียบทวิตเตอร์กับชีวิตประจำวัน
และรู้สึกเห็นด้วยกับเพื่อนท่านหนึ่งบนทวิตเตอร์
ประมาณว่า

การ ใช้ทวิตเตอร์ก็เหมือนเข้าไปในงานสังสรรค์เลี้ยงรุ่น
เราพอใจจะเดินไปคุยเรื่องอะไรกับใครก็ได้
หรือจะยืนฟังเขาคุยกันเฉย ๆ ก็ได้
ถ้าเราอยากเปิดประเด็นอะไรก็พูดขึ้นมา
ใครอยากคุยต่อก็จะมาคุยเอง

พลังของทวิตเตอร์ไม่ได้อยู่ที่ตัวทวิตเตอร์เอง
แต่อยู่ที่ผู้ใช้งานหลายสิบล้านคนทั่วโลก
ทำให้เครื่องมือเล็ก ๆ กลายเป็น “ชุมชน” ที่เหนียวแน่นขึ้นได้

และเฉกเช่นเดียวกับชุมชนในโลกจริง ๆ หรือชุมชนออนไลน์ต่าง ๆ
ย่อมต้องมีด้านมืด ตามสภาพปรากฏของกลุ่มคนหลากหลาย
ทั้งการหลอกล้วงความลับ การหลอกลวงข้อมูล การกุเรื่อง
ซึ่งเรายังคงต้องมีความระมัดระวังในการใช้ทวิตเตอร์ด้วย

ขอ ปิดด้วยทวีตล่าสุดของคนที่มีสถิติทวีตมากที่สุดในประเทศไทย
เขาคือ @sugree

comments ยกมา หน้าบล็อกขัดข้อง

Posted on Tuesday 26 May 2009 at 13:41 by Anonymous
Untitled Comment
Posted on Tuesday 26 May 2009 at 11:07 by Anonymous
มันเคยมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ Twitter ในทางแบบนี้ด้วยนะแต่เป็นเด็กเมกา ถ้าจำไม่ผิดเขาเป็นแพะติดคุก แต่ได้เจ้า Twitter นี้แหละช่วยไว้ ถ้าจำผิดขออภัยมานะที่นี้ด้วยนะฮะ

Untitled Comment
Posted on Tuesday 26 May 2009 at 11:12 by นู่วิ
กลับมาแล้วเหรอจ๊ะ หายไปนานกลับมาซะยาวเชียว

ได้ดูสกู๊ปแล้วนะ ว่าแล้วเชียวว่าต้องเป็นผลงานพี่โย

อยากเป็นเหมือนพี่บ้าง

Posted on Tuesday 26 May 2009 at 14:34 by Anonymous
น้องอยากทราบว่า การเป็นผู้ประกาศข่าว ของสำนักข่าวไทย
ต้องทำอย่างไรเป็นอันดับแรก ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
แล้วสมัครกันยังไง น้องตั้งใจดูข่าวมานาน ก็ไม่เห็นว่าจะมีข่าวเรื่องการรับสมัครเลย ตอนนี้น้องเป็นนักศึกษาที่เพิ่งจบมาหมาดๆๆ และมีความฝันที่อยากจะเป็นผู้ประกาศมากก โดยเฉพาะ ช่อง 9 นี้

ชอบพี่ๆผู้ประกาศทุกคนเลย …

อยากทำงานทีวี

Posted on Thursday 28 May 2009 at 07:58 by Anonymous
จบด้านนิเทศศาสตร์ จะรับปริญญาปีนี้
อยากทำงานทีวี ทั้งนักข่าว คนอ่านข่าว หรือเกมโชว์ก็ได้
พยายามสมัครไปหลายที่ เขาอยากได้แต่คนมีประสบการณ์
บางที่ มีคนมาบอกว่า ที่นี่ ต้องมี “เส้น” อย่างเดียว

พี่โย ที่ช่อง 9 ต้องทำไงได้ทำข่าว ได้อ่านข่าว
ถ้าต้องใช้ “เส้น” เหมือนช่องอื่นที่ไปสมัครมา
“ตาย” อย่างเดียว เพราะเป็นคนไม่มีเส้นอะพี่

เดี๋ยวเข้าไปเขียนใน twitter ดีกว่า

ตอบน้อง ๆ

Posted on Thursday 28 May 2009 at 17:01 by พีรพล
ไม่รู้จะตอบอย่างไรว่า จะเป็นผู้ประกาศได้ยังไง หรือแม้แต่จะเป็นผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวไทยได้อย่างไร นอกจากว่า เมื่อเขาเปิดรับ ก็มาสมัคร เท่านั้นเอง ถ้าเราพอมีคุณสมบัติอยู่บ้าง ก็อาจจะได้

แต่แนะนำได้ว่า น่าจะตั้งความตั้งใจไว้ที่การเป็น “คนข่าว”
เราอาจจะได้เป็นผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ผู้ประกาศ คนเรียบเรียงข่าว ฯลฯ
ทุกคนมีความสำคัญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะอยู่หน้าจอหรือไม่

ไม่ควรจำกัดความสามารถ หรือ โอกาสของตัวเองครับ

มีน้องที่เป็นผู้ประกาศคนเก่งคนหนึ่งตอบคำถามนี้ว่า
ต้องอาศัยความสามารถและโอกาส หมายความว่า

ความสามารถ อยู่ที่เราจะสั่งสมฝึกฝนได้แค่ไหน
ส่วน โอกาส ต้องรอ… เป็นปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้
แต่ก็ยังพอแสวงหาได้

เอาใจช่วยครับ ไม่เลือกงาน ได้ทำแน่นอน
ถ้าได้เจอกันตอนทำข่าว ก็ทักกันบ้างนะครับ

เป็นเรื่องยาวๆที่ไม่น่าเบื่อเลย..

Posted on Tuesday 2 June 2009 at 23:49 by เพลิน
พี่เขียนเรื่องยาวๆ..ได้ไม่น่าเบื่อเลยอ่ะ..ดีจัง…เขียนบ่อยๆนะค่ะ..จะ เข้ามาอ่านเรื่อยๆ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.