Site icon YOWARE

2 สิ่งจากงานแถลงข่าว Apple ที่น่า “ว้าว!” กว่า iPhone XS

แน่นอนว่าเป็นการเปิดตัวสินค้า สินค้านั้นก็ย่อมเป็นพระเอก แต่นอกเหนือไปจากผลิตภัณฑ์ที่จอใหญ่ขึ้น และราคาที่ทะลุเพดานไปแล้วนั้น ยังมีอีก 2 สิ่งที่น่า “ว้าว” อยู่ด้วย

ก่อนจะลงไปเฉลย ลองใช้เวลาย่อหน้านี้ ทายกันเล่น ๆ ในใจดูดีกว่า ว่าจะคิดตรงกันหรือไม่ ?

สิ่งหลัก ๆ ที่ Apple แถลงข่าวเปิดตัว ได้แก่

มือถือ 3 รุ่น : iPhone XS / iPhone XS Max / iPhone XR

นาฬิกา 1 รุ่น 2 ขนาด 2 วัสดุ 3 สไตล์ : Apple Watch Series 4 ขนาด 40 และ 44 มิลลิเมตร อะลูมิเนียม และ สแตนเลส มีทั้งแบบธรรมดา แบบไนกี้ และแบบ Hermes

พร้อมทั้งบอกกำหนดการเปิดให้ดาวน์โหลด iOS 12 / tvOS 5 / watchOS 5 (17 ก.ย.) / macOS Mojave (24 ก.ย.)

แต่มี 2 สิ่ง ที่โดยส่วนตัวรู้สึกว่าน่าตื่นเต้น กว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกใหม่และดีขึ้นตาม “รูทีน” ข้างต้น ก็คือ

1 การลงลึกเรื่องสุขภาพ

แม้เป็นส่วนหนึ่งของ Apple Watch Series 4 ที่เปิดตัวใหม่ (และตอนนี้ก็ยังใช้ได้แค่ในสหรัฐอเมริกา) แต่ความสามารถในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ Electro-cardiogram หรือ ECG นั้น เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า ข่าวลือที่สะพัดกันมาหลายปี ว่า Apple ลงลึกด้านนี้ถึงขั้นไปจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพมานั่งคิดค้นพัฒนานั้น จะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใด

วิธีใช้ ECG ใน Apple Watch คือการใส่ไว้ที่ข้อมือข้างหนึ่ง และใช้นิ้วของมืออีกข้างหนึ่งแตะที่เม็ดมะยม ซึ่งจะทำให้กระแสไฟฟ้าครบวงจร เกิดการตรวจวัดการทำงานของหัวใจได้คล้ายกับเครื่อง ECG ตามโรงพยาบาล แถมยังส่งรายงานไปให้หมอได้อีกด้วย

ฟีเจอร์นี้อาจจะมีแววพลิกโฉมวงการสุขภาพ เพราะหัวใจที่เต้นผิดจังหวะนั้น จะตรวจพบด้วยเครื่อง ก็ต่อเมื่อตอนที่มีอาการจริง ๆ แต่หลายครั้งที่เราไปตรวจสุขภาพแล้วเผอิญขณะนั้นไม่มีอาการ เครื่องที่โรงพยาบาลก็จะตรวจไม่เจอ แต่พอมีเจ้านี่ไว้ที่ข้อมือ อยากตรวจเมื่อไหร่ก็ตรวจไปได้เลย

หลังจาก Apple Watch ทำให้ธุรกิจนาฬิกาข้อมือได้รับผลกระทบไม่เท่าไหร่ แค่ฟีเจอร์นี้อย่างเดียว อาจจะทำให้อุปกรณ์ ECG แบบพกพาราคาหลักหมื่นขายยากขึ้นก็เป็นได้

ยังไม่ต้องพูดถึงฟีเจอร์อื่น ๆ เกี่ยวกับสุขภาพที่เคยเป็นข่าวลือ เช่น การตรวจน้ำตาลในร่างกายสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ในอีกไม่นานหาก Apple Watch สามารถตรวจระดับน้ำตาลได้โดยไม่ต้องเจาะเส้นเลือดกันบ่อย ๆ จะมีผู้ป่วยหันมาใช้กันมากแค่ไหน และยิ่งไปกว่านั้น จะช่วยป้องกันคนที่จะป่วยเป็นเบาหวานได้มากขึ้นหรือไม่ ?

ความสามารถด้านการตรวจหัวใจใน Apple Watch ยังมีอีก 2 ข้อ ซึ่งใช้เซนเซอร์วัดอัตราการเต้นหัวใจ แต่ใส่ความฉลาดไปที่การประมวลผลข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการเตือนเมื่อหัวใจเต้นช้า หรือหัวใจเต้นพลิ้ว

ขณะที่ฟีเจอร์การตรวจจับรับรู้การสะดุดตกหกล้ม และส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือโดยอัตโนมัติ ถ้าเราไม่ตอบสนองภายใน 1 นาทีนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ทำให้เรียนรู้ว่า แนวคิดการพัฒนาสิ่งใหม่ซึ่งก่อคุณูปการต่อผู้ใช้นั้นจะเป็นอย่างไร

และยังแอบประทับใจประโยคทิ้งท้ายของผู้นำเสนอที่บอกว่า “เราคงไม่อยากได้ใช้ฟีเจอร์เหล่านี้ แต่มันก็ช่วยให้อุ่นใจที่ได้รู้ว่ามี” (ประทับใจคนวางสคริปต์การนำเสนอ ที่มองอย่างรอบด้าน)

สื่อในต่างประเทศบางท่าน ถึงขั้นรีวิวแนะนำให้ซื้อ Apple Watch ไว้ใช้ เพราะมันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณรอดชีวิต

 

2 นโยบายสิ่งแวดล้อม

Apple มีนโยบายสิ่งแวดล้อมที่น่าประทับใจ เอาจริงเอาจัง อย่างเช่น การตั้งเป้าว่าจะใช้พลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาด 100% ในอาคารสำนักงานโรงงานของ Apple ทั่วโลก หรือการปลูกต้นไม้มากมายในพื้นที่สำนักงานใหญ่

หลายคนจะบอกว่า “เพราะ Apple รวยแล้ว จึงทำได้” ก็คงไม่ผิดนัก (ล่าสุด Apple เพิ่งขึ้นแท่นบริษัทที่มีมูลค่าสูง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือที่เรียกว่า 1-trillion company)

แต่ถ้าถามย้อนกลับไป มีบริษัทมากมายที่มีรายได้และกำไรจากการขายสินค้า แต่ก็ไม่ได้สนใจจะลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน

“นี่คือสิ่งที่เราอยากให้คู่แข่งของเราเลียนแบบบ้าง” Apple เคยประกาศแบบนี้ขึ้นเว็บไซต์ที่บอกเล่าความพยายามปรับปรุงระบบการทำงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะ “ทำให้โลกนี้ดีกว่าตอนที่เราเกิดมาและใช้ประโยชน์”

ในการแถลงข่าวครั้งนี้ Apple ได้ประกาศว่า iPhone XS รุ่นใหม่ จะมีบางชิ้นส่วนผลิตจากการรีไซเคิล iPhone รุ่นเก่า ๆ ที่ส่งกลับมาแยกชิ้นส่วนด้วยหุ่นยนต์

สิ่งแรกที่นำกลับมาใช้ใหม่คือ “ตะกั่ว” ที่ใช้บัดกรีอุปกรณ์ให้เชื่อมต่อถึงกัน ซึ่ง Apple ประกาศว่าจะช่วยให้ลดการใช้ตะกั่วใหม่ลงได้ปีละ 10,000 ตัน และอีกส่วนหนึ่งก็คือพลาสติกลำโพงก็เป็นพลาสติกที่ทำจากวัสดุใช้ซ้ำ

“ซึ่งแปลว่าจะลดการที่เราจะต้องไปขุดแร่ออกมาใช้เพิ่มเติม” จริง ๆ แล้วก็เคยได้ยินมาอยู่บ้างจากที่ Apple เคยประกาศไว้ แต่ไม่คิดว่าจะเริ่มทำได้เร็วขนาดนี้ Apple ยังเคยบอกในแผนว่า วันหนึ่งอุปกรณ์ Apple ทั้งหมดจะใช้วัสดุหมุนเวียน โดยไม่ต้องขุดอะไรออกมาจากแผ่นดินโลกนี้อีก

และอีกส่วนที่ดีต่อผู้บริโภคคือ การประกาศว่าจะให้อุปกรณ์ใช้งานไปได้นาน ๆ โดยไม่ทำให้มันล้าหลังเพียงด้วยการที่มันอัพเกรดเป็น iOS เวอร์ชั่นใหม่ ๆ ไม่ได้ ซึ่งก็ทำให้ iOS 12 ยังรองรับย้อนไปถึง iPhone 5s ที่วางขายในปี 2013

ไม่ว่าจะด้วยผลทางธุรกิจ สร้างภาพลักษณ์ หรือด้วยเหตุใดก็ตาม แต่ย่างก้าวของ Apple ที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้น ได้ตัดสินใจเลือกลงทุนกับสิ่งที่ส่งผลต่ออนาคต และ รับผิดชอบต่อโลกใบนี้ ไม่ใช่แค่ฟีเจอร์ วัตถุ เปลือก และการตลาดที่ไม่ยั่งยืน

 

 


ด้านล่างนี้รวมทวีตจากช่วงเวลาในวันเปิดตัว iPhone XS เมื่อ 12 กันยายน 2018 เชิญตามไปดูบรรยากาศกันได้ครับ

 

Exit mobile version