#Advertorial
เปิดเบื้องหลังกว่าจะเป็นเกม INVICTUS ที่สร้างสรรค์จากมือคนไทย ในระดับมาตรฐานสากล เตรียมบุกตลาดเกมทั่วโลกปี 2019 สัมภาษณ์พิเศษ CEO แห่ง True Axion
ณ มุมหนึ่งในงาน Thailand Game Show 2018 ท่ามกลางมวลมหาประชาเกมเมอร์ นักเล่นเกมกลุ่มหนึ่งกำลังขะมักเขม้นกับการสัมผัสหน้าจอที่ติดตั้งไว้บนโต๊ะ นี่คือครั้งแรกที่พวกเขาได้เล่นเกมนี้ เกมนี้ไม่เคยเปิดตัวที่ไหนมาก่อน และแม้ติดใจ ก็ยังไม่มีให้โหลดไปเล่นที่บ้าน แต่ผู้พัฒนาแอบกระซิบว่าอีกไม่นานเกินรอ
ภาพที่สวยงามสะกดสายตาบนจออุปกรณ์พกพาขนาดต่าง ๆ เรียงรายให้ทดลองเล่น กราฟิกสามมิติบนเกมจัดวางเรียบง่าย เพียงแค่มองปราดเดียว นักเล่นเกมก็จะเข้าใจว่า เขาจะต้องทำอะไรต่อไป
INVICTUS เป็นเกมต่อสู้ ที่ไม่ใช่สักแต่สู้ เพราะยังมีอรรถรสของการวางกลยุทธ์แบบเกมที่ต้องใช้การ์ดผสานผสมอยู่ด้วย ตัวเอกจะเป็นอัศวินที่ถูกชุบชีวิตขึ้นมา และเขาต้องเดินหน้าต่อสู้ ข้ามมิติ ข้ามเวลา เพื่อไล่ล่าตามหาจอมมารที่ลงมือสังหารเขา ซึ่งจะไขปริศนาที่สำคัญกว่าว่า เหตุใดเขาจึงถูกชุบชีวิตขึ้นมา ?
เกมเพลย์ของ Invictus เป็นรูปแบบเกมที่ออกแบบมาด้วยแนวคิดใหม่ ที่เป็นทั้ง fighting game และ strategic card game รวมเรียกว่า Card-based real-time action fighting game
ฟีเจอร์หลักของเกม INVICTUS
- เลือกใช้อาวุธตามสไตล์ที่ชอบ
- สกิลการ์ดหลากหลายให้เลือกใช้
- ต่อสู้กับผู้เล่นคนอื่นแบบออนไลน์
- ร่วมมือกับผู้เล่นในแคลนเดียวกัน
แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องย้ำกันตรงนี้คือ นี่คือเกมฝีมือคนไทย ผลงานของเกือบ 60 ชีวิตในสตูดิโอเกม ที่มีความมุ่งมาดคาดหวังรังสรรค์เกมระดับมาตรฐานสากล ทริปเปิ้ลเอ AAA ออกสู่ตลาดเกมขนาดใหญ่ของโลก โดยเริ่มต้นที่ประเทศไทย
และการนำเกมมาแนะนำตัวในครั้งนี้ มีจุดประสงค์หลักเพื่อเก็บข้อมูลความคิดเห็นจากเหล่าเกมเมอร์ตัวจริง กลับไปปรับปรุง เพื่อพร้อมจะออกสู่ตลาดจริงที่วางไว้ปลายไตรมาสแรก ปี 2019
เท่ากับว่า เรามีอย่างน้อย 2 ปรากฏการณ์ คือ การมุ่งสร้างเกมมือถือระดับสากล และ การเปิดให้เกมเมอร์เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเกม
“จริง ๆ คนไทยปีหนึ่งใช้เงินกับเกมเยอะมาก ปีหนึ่งประมาณกว่า 2 หมื่นกว่าล้านบาท แต่มากกว่า 98% เป็นเกมต่างประเทศ มาจากประเทศไทยเอง มีมูลค่าไม่ถึง 2%”
คุณนิธินันท์ บุญวัฒนพิศุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ ของบริษัท ทรู แอกซิออน อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด เปิดสถิติที่น่าคิดของวงการ “เกม” ของประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ทางบริษัทมองเห็นโอกาสทางธุรกิจจากการผลิตเกม และโอกาสที่จะขยายความแข็งแกร่งของวงการเกมไทยในทุกมิติ
วงการเกม พิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมมาแล้วทั่วโลก จนสามารถเรียกว่า “อุตสาหกรรมเกม” ได้อย่างเต็มตัว เพราะทำรายได้และสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจให้เกิดขึ้นอย่างครบวงจร อย่างน้อย 3 กลุ่มคนที่จะมี “โอกาส” จากวงการเกม นั่นคือ คนเล่นเกม คนทำธุรกิจเกม และ คนพัฒนาเกม
ซึ่งแน่นอนว่า นั่นก็เป็นโอกาสของคนไทยเช่นเดียวกัน
True Axion วางแผนลงทุนกับเกมนี้ 35 ล้านบาท เพื่อให้เกมได้ออกวางตลาดภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2019 หลังจากนั้นจัดเตรียมงบพัฒนาเกมอย่างต่อเนื่อง เดือนละ 2 ล้านบาท เกมนี้โหลดฟรี มีทั้งบน iOS และ Android แต่มีการจำหน่ายไอเทมในเกม โดยตั้งเป้ายอดขายรวมทั่วโลก 1 พันล้านบาทในปีแรก แบ่งเป็นจากตลาดไทย 100-150 ล้านบาท ที่เหลือเป็นตลาดต่างประเทศ
คุณนิธินันท์ มีประสบการณ์อยู่ในวงการเกมมายาวนานตั้งแต่ในยุคเกมบนเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ จึงเข้าใจเป็นอย่างดีว่า เมื่อเกมย้ายฐานการเล่นมาสู่บนโลกอุปกรณ์พกพา จะทำอย่างไรให้โดนใจ และได้ผลกำไร
“การออกแบบเกมมี 2 ส่วน คือ core dynamic กับ meta game dynamic ในส่วนแรกคือ core นั้น เกมจะต้องทำให้ผู้เล่นเข้าใจว่ากำลังทำอะไรอยู่ end game คืออะไร ในขณะที่ meta นั้นคือส่วนขององค์ประกอบย่อย การมีสีสัน เพิ่มความตื่นตัวตลอดเวลา การบรรจุ instant gratification ที่ทำให้ผู้เล่นได้รู้สึกประสบความสำเร็จหรือคว้าชัยชนะบางอย่าง ในจังหวะที่พอเหมาะพอดี ดังนั้นจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ คนที่เข้ามาทำต้องเข้าใจเกมเมอร์ รู้เรื่องสถิติและจิตวิทยาเป็นอย่างดี” คุณนิธินันท์ระบุ
ส่วนในทางธุรกิจนั้น การเริ่มเป็นพันธมิตรกับหลากหลายประเทศ รวมทั้งจีน ก็จะเป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งตอกย้ำกับทีมงานทุกคนว่า เกมนี้เป็นการผลิตเพื่อผู้เล่นทั้งโลก ไม่ใช่แค่ประเทศไทย
“เราอยากจะเปิดโอกาสให้เกมเมอร์ไทยได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเกม ให้ได้ลองก่อนเลย ที่นี่เป็นที่แรก ยังไม่มีใครในโลกได้แตะเล่นเกมนี้มาก่อน”
คุณนิธินันท์ เล่าถึงสาเหตุที่นำเกมที่ “ยังไม่เสร็จ” สมบูรณ์มาเปิดให้เล่นกันก่อน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมิติใหม่ของการพัฒนาเกม ที่เกมเมอร์จะมีส่วนปฏิสัมพันธ์ให้ความคิดเห็นได้ตั้งแต่ในขั้นของการสร้างเกม
“เราต้องการเก็บข้อมูลความคิดเห็นจริง ๆ ให้คนเล่นมีโอกาส comment มีแบบสอบถามให้ช่วยกรอก และทีมงานที่ฟังอยู่ที่บูธ ก็คือดีไซเนอร์ของเกมเอง ที่มารับ feedback จากคนเล่นโดยตรง”
ต่อคำถามที่น่าสนใจ เมื่อโลกกำลังตื่นเต้นเรื่อง VR และ AR ทำไม TrueAxion ยังไม่คิดจะทำ ?
สาเหตุคือ คุณนิธินันท์มองว่า AR และ VR ยังเป็นแค่ลูกเล่นทางการตลาด ซึ่งทำได้ แต่พอทำเป็นเกมจริง ๆ มันไม่ใช่ กลุ่มผู้ใช้ยังแคบอยู่
“จุดสำคัญของเกมคือเข้าถึงได้เร็วและง่าย ซึ่ง AR กับ VR ยังไม่ตอบโจทย์ตรงนี้ เพราะมีข้อจำกัดในส่วนของ Hardware และลักษณะการใช้งาน” คุณนิธินันท์ระบุ