Site icon YOWARE

มาตรการป้องกัน “ข่าวรั่ว” แบบ Apple

Apple เรียกประชุมพนักงานกลุ่มใหญ่ กระชับตอกย้ำนโยบายให้ “รักษาความลับ” เผยจ้างอดีตสายลับตามสืบจับเพียบ พร้อมเล่าเคสข่มขวัญ หลังพบตัวเลขน่าตกใจ ความลับส่วนใหญ่รั่วมาจากสำนักงานใหญ่นี่เอง

“I HAVE FAITH DEEP IN MY SOUL THAT IF WE HIRE SMART PEOPLE … ULTIMATELY THEY’RE GONNA DO THE RIGHT THING, AND THAT’S TO KEEP THEIR MOUTH SHUT.”

เว็บข่าว The Outline เปิดเผยข้อมูลวงใน อ้างว่าได้รับไฟล์บันทึกการประชุมภายในของ Apple ซึ่งมีหัวข้อที่น่าสนใจว่า

“Stopping Leakers – Keeping Confidential at Apple,”
หรือประมาณว่า “หยุดพวกจอมรั่ว : เก็บความลับให้ดีที่ Apple”

เรื่องราวการประชุมภายในกำชับให้ข่าวไม่รั่ว (แต่ข่าวการประชุมนี้ก็ดันรั่วออกมา) จัดขึ้นในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2017 มีผู้บริหาร Apple หลายคนมาขึ้นเวที นำโดย David Rice ผู้อำนวยการฝ่าย Global Security, Lee Freedman ผู้อำนวยการ Worldwide Investigations (ฝ่ายสืบสวนสอบสวน Worldwide) และ Jenny Hubbert จากทีมสื่อสารและฝึกอบรมของ Global Security

ชื่อฝ่ายอย่าง Global Security และ Worldwide Investigations คงจะทำให้หลายคนงงกันไปว่าบริษัทเทคโนโลยีที่ผลิตคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ไฮเทคต่าง ๆ นี่นะ ต้องมีฝ่าย รปภ.หรือเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนในระดับทั่วโลก แต่คนที่ติดตามข่าวและรู้จัก Apple เป็นอย่างดี คงจะเข้าใจว่า “การเก็บความลับ” เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ Apple เอาจริงเอาจังมาแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่เมื่อคราว Steve Jobs ยังมีชีวิตอยู่ และ Tim Cook ที่มากุมบังเหียนต่อนั้นก็ประกาศชัดเมื่อปี 2012 ว่าจะ Double Down on Secrecy หรือเก็บความลับให้ได้มากยิ่งกว่าเดิม

การอบรมครั้งนี้กินระยะเวลานานประมาณ 1 ชั่วโมง เชื่อว่าเป็นกิจกรรมแรกของโครงการอบรมพนักงาน Apple ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความลับไว้ให้มั่น ไม่ว่าจะจากคู่แข่ง นักลอกเลียนแบบ และ นักข่าว

มาทั้งไม้นวมและไม้แข็ง

ในการอบรมมีการเปิดวิดีโอหลายตัว เช่นบางตัว แสดงความรู้สึกของพนักงาน Apple “เวลาฉันเห็นข่าวรั่วไปในสื่อ ฉันรู้สึกโกรธเกรี้ยวมาก” “มันทำให้ท้องไส้ปั่นป่วน” “เวลาคุณปล่อยความลับรั่วออกไป คุณทำให้พวกเราทั้งหมดรู้สึกแย่ นี่คือบริษัทของเรา นี่คือที่ที่ทีมต่าง ๆ ทำงานหนักกับสิ่งนั้นที่คุณทำรั่วออกไป”

Greg Joswiak, Vice President of iPod, iPhone and iOS product marketing (รองประธานฝ่ายการตลาด iPod iPhone iOS) พูดตอนหนึ่งในวิดีโอ ซึ่งอาจส่งสัญญาณให้พนักงาน Apple หลายคนต้องเงียบปาก

“ผมเชื่อลึก ๆ ในใจว่า ถ้าเราจ้างคนที่ฉลาด ๆ พวกเขาจะคิดได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ เข้าจะเข้าใจ และเขาจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง นั่นคือ หุบปากของเขาอยู่เสมอ”

Apple ได้สร้างระบบและจ้างทีมเฉพาะขึ้นมาเพื่อติดตามสืบสวนสอบสวนข่าวรั่วทั้งหมด อย่างจริงจัง ตัว David Rice เอง เคยทำงานอยู่ที่ NSA สำนักข่าวกรอง และ กองทัพของสหรัฐ ส่วนทีมงานต่าง ๆ (ไม่เปิดเผยจำนวน) ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญมาจากหน่วยงานความมั่นคง FBI และกระจายกำลังพร้อมจะสอบสวนข่าวรั่วข่าวปล่อยทั่วโลก

ภารกิจแรก : “ปิดปากโรงงาน”

มีการตั้งทีม New Product Security เพื่อเกาะติดไม่ให้มีข้อมูลรั่วไหลจากสายการผลิตทั้งหมด ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาพบความพยายามขโมยชิ้นส่วนของ Apple ออกมาจากโรงงาน ทั้งส่งให้นักข่าว เช่น กรณี iPhone 5 เมื่อปี 2012 หรือ ขายในตลาดมืด ซึ่งมักจะดอดมาติดประกาศตามป้ายรถเมล์หรือหอพักของคนงาน ขอรับซื้อและให้ราคาสูง บางทีสูงเท่ากับคนงานทำงานกันทั้งปี

ชิ้นส่วนที่มีราคาสูงสุดในตลาดมืด คือ กรอบหรือตัวเครื่องภายนอก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรอบโลหะของ iPhone หรือ MacBook

ทีมสืบสวนพบสารพัดวิธีลักลอบเอาชิ้นส่วนออกจากโรงงาน ไม่ว่าจะซ่อนในห้องน้ำ หนีบไว้ที่นิ้วเท้า โยนข้ามรั้ว หรือกดชักโครกลงส้วมเพื่อจะไปคุ้ยอีกทีในบ่อบำบัด และในอดีตยังเคยพบคนงานหญิงใช้วิธีซ่อนมันไว้ใต้โครงยกทรง ทยอยขโมยออกไปรวมแล้วมากถึง 8,000 ชิ้น

เสินเจิ้น คือปลายทางของสิ่งที่ขโมยออกไปจากโรงงาน Apple ซึ่งปีที่ชอกช้ำที่สุดซึ่ง Apple ไม่มีวันลืม คือ เมื่อปี 2013 Apple ต้องไปรีบไล่ตามซื้อกรอบ iPhone 5c (iPhone พลาสติกหลากสี) จากตลาดมืด มากถึง 19,000 ชิ้นก่อนการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ และอีก 11,000 ชิ้นก่อนกำหนดส่งให้ลูกค้า

แต่จากนั้นมาสถานการณ์ชิ้นส่วนรั่วไหลจากโรงงานก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2014 มีกรอบหลุดออกมา 387 ชิ้น ในปี 2015 มี 57 ชิ้น (ซึ่ง 50 ชิ้นถูกขโมยออกมาในคืนที่เปิดตัว) และในปี 2016 มีของถูกขโมยออกมาได้แค่ 4 ชิ้น จากของที่ผลิตทั้งหมด 65 ล้านชิ้น หรืออัตราส่วน 1 ใน 16 ล้าน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จมาก

หนึ่งในสาเหตุที่ประสบความสำเร็จ ก็คือการวางระบบตรวจพนักงาน คนงานที่เข้าออกโรงงานอย่างเข้มงวด เมื่อเทียบกับสนามบินที่ตรวจสอบ ผู้โดยสาร 1.8 ล้านรายต่อวัน แต่ Apple ต้องตรวจสอบคนงานทุกครั้งที่เข้าออก 40 โรงงานในจีน รวมแล้ว 2.7 ล้านรายต่อวัน และถ้าเร่งกำลังการผลิต จะมากถึง 3 ล้านรายต่อวัน

“รวมแล้วเราตรวจคนผ่านเข้าออกราวปีละ 221 ล้านราย เทียบให้เห็นภาพคือ สวนสนุกที่มีคนไปเที่ยวมากที่สุดในโลก มีนักท่องเที่ยวปีละ 223 ล้านราย”

ภารกิจสอง : “ปิดปากคน Apple”

ปี 2016 เป็นปีแรกที่ข่าวรั่วนั้นมาจากในสำนักงานใหญ่ของ Apple ที่แคลิฟอร์เนีย มากกว่าสิ่งที่รั่วมาจากโรงงาน ซึ่งทำให้เห็นว่า ยังมีปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ ที่สำนักงานใหญ่ของ Apple นั่นเอง

ในบางทีมสร้างผลิตภัณฑ์ ฝ่าย Global Security ต้องจัดคนเข้าไปเป็นสมาชิกที่ช่วยจัดการการเก็บความลับ เรียกว่าเป็น Secrecy Program Management แต่เมื่อสุดท้ายมีข่าวรั่วออกไป ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายสืบสวนสอบสวนที่จะเข้าไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น และ ใครต้องรับผิดชอบ

การสอบสวนพวกนี้จะกินเวลายาวนาน เช่น มีกรณีหนึ่งใช้เวลาสอบสวนกันถึง 3 ปี

“เราไม่คิดแบบคนที่ยอมอะไรง่าย ๆ แล้วบอกว่า ไม่เป็นไร ยังไงมันก็ต้องรั่ว” หัวหน้าฝ่ายสืบสวนบอก และสิ่งที่น่ากลัวคือ คนที่ปล่อยข่าวรั่วเหล่านี้ก็คือคนที่มีลักษณะเหมือนพนักงาน Apple ทั่ว ๆ ไป ที่ใจคิดว่า “ฉันรัก Apple”

ปีที่แล้ว มีกรณีสอบสวนใหญ่เกิดขึ้น 2 ครั้งกับพนักงาน Apple คนหนึ่งเป็นฝ่าย Online Store ที่ทำงานมาหลายปี ส่วนอีกคนเป็นฝ่าย iTunes ที่ทำงานมา 6 ปี ทั้งคู่ปล่อยข่าวให้บล็อกเกอร์ มีคนหนึ่งเริ่มด้วยการคุยกับนักข่าวในทวิตเตอร์ ส่วนอีกคนมีเพื่อนเป็นนักข่าว

เขาเตือนให้ระมัดระวังการพูดกับคนรอบข้างเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องเป็นความลับ แม้แต่คนใกล้ชิด หรือ แม้แต่ภายในสำนักงาน Apple เองตรงบริเวณที่เรียกว่า red zone เช่น ทางเดิน ล็อบบี้

ถ้าทำพลาดให้รีบบอก

เขาเตือนพนักงานว่า ถ้ากังวลว่าได้ทำพลาดเกี่ยวกับการรักษาความลับไปแล้ว ขอให้รีบมาบอก เพราะ 9 ใน 10 ของคนที่ตกอยู่ในปัญหาหนักที่ Apple มักจะเป็นเพราพวกเขาพยายามปกปิดความผิดพลาดของตัวเอง

ที่จริงแล้ว บทบาทของฝ่าย New Product Security นั้นเกิดขึ้นมาหลังจากกรณีที่มีคนหนึ่งปิดปากเงียบ ไม่ยอมบอกเราว่าลืมตัวต้นแบบไว้ในบาร์เหล้า (คาดว่าเป็นกรณีที่มีคนลืมตัวต้นแบบ iPhone 4 ไว้ในบาร์ เมื่อปี 2010 ซึ่งทำให้มีการขายต่อไปถึงเว็บข่าว จนทำให้ Steve Jobs ต้องโทรศัพท์ไปขอคืนด้วยตัวเอง และเกิดเป็นคดีความกัน)

ถึงกระนั้นเขาก็บอกว่า ไม่อยากให้พนักงาน Apple หวาดกลัวจนเกินเหตุ ยืนยันว่าไม่มีใครไปแอบอ่านอีเมล์ หรือ สะกดรอยตามใครแน่นอน

หัวใจของความลับ

ในการอบรม มีการเปิดวิดีโอ Tim Cook ขึ้นเวทีเปิดตัว แล้วคนที่อบรมก็ถามว่า One More Thing คืออะไร คำตอบคือ “ความประหลาดใจและพึงพอใจ” หรือ “Surprise and delight.” ความสุขอันเกิดจากการได้เห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดที่ไม่เคยรั่วไหลไปที่ไหนนั่นเอง และในทางกลับกัน ถ้าข่าวนั้นรั่วไปก่อน คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือทุกคนที่ Apple นี่เอง

Adult Zone

การประชุมอบรมครั้งนี้ทิ้งท้ายด้วยคำกำชับขอให้พนักงาน Apple ทุกคนใช้ชีวิตและทำงานใน อาณาเขตความเป็นผู้ใหญ่ มีวิจารณญาณ

“สิ่งที่พวกคุณต้องตระหนัก และผมหวังว่าคุณได้ตระหนัก คือ Apple ได้ให้พลังอำนาจมหาศาลอยู่ในมือของคุณ”

ที่มา :
บทความ Leaked recording: Inside Apple’s global war on leakers โดย The Outliner
https://theoutline.com/post/1766/leaked-recording-inside-apple-s-global-war-on-leakers

Exit mobile version